ทส. เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 3 แสนไร่ ภายใน 10 ปี

Home » ทส. เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 3 แสนไร่ ภายใน 10 ปี


ทส. เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 3 แสนไร่ ภายใน 10 ปี

กระทรวงทรัพย์ เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี สร้างคาร์บอนเครดิต “เพิ่มรายได้-ลดโลกร้อน” มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงความสำคัญของป่าชายเลน ว่า ประเทศไทยมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ 1.5 ล้านไร่ ความสำคัญของป่าโกงกางนอกจากการซับคาร์บอน ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำนานาชนิดที่เข้ามาเพาะพันธุ์

“ป่าชายเลนมีการคำนวณล่าสุดดูดซับคาร์บอนได้ถึง 8-9 เท่า กระทรวงฯ จะเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าต่อไป ซึ่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ภาพถ่ายจากดาวเทียม พบว่าป่าโกงกางในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ก็มาจาความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน กระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าจะลงไปทุกจังหวัดเพื่อคุมเรื่องการปล่อยคาร์บอน ตั้งเป้าจะลงไปถึงระดับท้องถิ่น กระทรวงฯ ตื่นตัวมากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 2025 คาดว่าจะเห็นการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ทั้งป่าบกและชายเลน”

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ล่าสุดทส. ได้เตรียมจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment)” หรือ “กรม Climate Change” เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลกและตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถือเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญ ต้องการเห็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกี่ยวกับอนาคตของลูกหลาน ทุกกระทรวงต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน ถามว่าทำไมถึงต้องมีกรม Climate Change ก็เพราะต้องการให้เกิดการบูรณาการ ไม่ได้เพิ่มคน เพียงแค่ปรับองคาพยพ รวมการทำงาน ใช้งบประมาณเดิม แต่เพิ่มภารกิจให้ชัดเจน

“ตอนนี้ในบ้านเราเรื่องคาร์บอนเครดิตถือเป็นวงจรใหญ่กว่าเดิมมาก มีเอกชนหลายแห่งต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะตลาดคาร์บอนเครดิตขายได้ สร้างรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องไปประสานกับกรมป่าไม้ และกรมชายฝั่ง” นายจตุพร ทิ้งท้าย

ขณะที่นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปีตั้งแต่ปี 2565 จะเพิ่มพื้นที่ป่าใช้เลนในภายใต้โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตจำนวน 300,000 ไร่ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอก คือเปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการปลูกป่า อีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนชายฝั่งต่างๆ เครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ที่ดูแลป่าดูแลความอุดมสมบูรณ์


“โดยปี 65 เพิ่มพื้นที่ป่าได้ประมาณ 40,000 ไร่ ในขณะปี 66 ได้มีหลายภาคส่วนจองปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งกรมฯ กำลังจะประกาศพื้นที่เป้าหมายประมาณช่วงปลายเมษายนหรือพฤษภาคม อีกประมาณ 3-4 หมื่นไร่ นอกจากนี้ กรมฯ เดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยเฉพาะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ให้เป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน นำศักยภาพทางด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ