เช็กเลย! การไฟฟ้านครหลวง เปิดผลทดสอบ เปิดแอร์หน้าร้อน ทำไมกินไฟมากกว่าเดิม โดยคิดหน่วยใช้ไฟรายเดือน สมมติเปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ต่อวัน นาน 30 วัน
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยผลทดสอบเครื่องปรับอากาศ เพราะยิ่งอากาศร้อน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้ค่าไฟแต่ละบ้านพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าจากปกติ โดยผลการทดสอบมีดังนี้
ตัวอย่าง อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส
– เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.69 หน่วย
– เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 5.52 หน่วย
– เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 165.6 หน่วย
ขณะที่อุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส
– เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.79 หน่วย
– เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 6.32 หน่วย
– เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 189.6 หน่วย
สรุป ร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 14%
ทั้งนี้ ผลการทดสอบด้วยเครื่องปรับอากาศที่ได้มาตรฐานขนาด 12,000 BTU ตั้งค่าอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้องที่ 35 องศาเซลเซียส และ 41 องศาเซลเซียส
การคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือนโดยสมมติให้เป็นการเปิดเครื่องปรับอากาศ 8 ชั่วโมง ต่อวัน นาน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้น และใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือเครื่องปรับอากาศ ยกตัวอย่างสภาวะอากาศปกติอุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส
แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียส
“เมื่อแอร์ทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น” นายจาตุรงค์ กล่าว