กกต. แจงสีบัตรเลือกตั้งไม่ซ้ำสีพรรค ตั้งเป้าลดบัตรเสียเหลือ 1% เร่งสกัดบัตรเขย่ง ยันไม่ปล่อยคนทำทุจริตเลือกตั้งส.ส.แน่ ไม่มีปล่อยผีเร่งให้ตั้งรัฐบาลก่อน
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงบัตรเลือกตั้งว่า บัตรมี 2 ประเภท เลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะเป็นสีม่วง แบบบัญชีรายชื่อเป็นสีเขียว โดยเราพิจารณาใช้สีที่ไม่ซ้ำกับสีพรรคการเมืองใช้ ฉะนั้น สีบัตรที่เราเลือก จะไม่มีความเกี่ยวพันกับพรรคใดจึงได้เป็น 2 สีนี้
เมื่อถามว่าบัตรเลือกตั้ง หมายเลขอัดแน่นในกระดาษใบเดียว อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่เห็นบัตรตัวอย่าง กกต.ดูแล้วไม่ได้อัดแน่นมากจนตาลาย เพราะถ้ามันเกินจำนวนเราก็ใช้กระดาษอีกขนาดหนึ่ง ส่วนที่หลายคนกังวลเรื่องคอลัมน์ในบัตรช่องที่ต้องกาลงคะแนน ทั้งคอลัมน์แรกกับคอลัมน์หลัง จะทำคนสับสนนั้น ครั้งนี้ก็เป็นบัตรที่ทำมาในทำนองเดียวกับเลือกตั้งปี 2554 และ2557 ซึ่งช่วงนั้นก็มีบัตร 2 ใบแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ คราวนี้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. แก้ไขใหม่ระบุว่าต้องทำ 2 อย่างแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ และข้อกฎหมายในปัจจุบัน
นายอิทธิพร กล่าวว่า ส่วนยอดบัตรเสีย เราตั้งเป้าให้น้อยที่สุด ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ครั้งที่แล้วมันเกินจนเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้มีบัตร 2 ใบ เราตระหนักดีว่ามันเป็นความท้าทาย ฉะนั้น ต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดความสับสนและเรื่องบัตรเสียได้ และหน้าหน่วยเลือกตั้งก็จะมีบอร์ดประชาสัมพันธ์เป็นข้อมูลเบื้องต้น นอกเหนือจากประวัติของผู้สมัครแล้ว เช่น ข้อควรที่ต้องระวังไม่ไปถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่กาแล้ว อย่านำบัตรเลือกตั้งออกนอกหน่วย อย่าทำให้บัตรชำรุด
ส่วนเรื่องบัตรเขย่ง เมื่อปี 62 เรามีเขย่งไป 8 หน่วยเลือกตั้งจาก 92,320 หน่วย คิดแล้วไม่ถึง 0.01 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้นเลย จึงอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง(กปน.) อย่างเข้มข้นว่าสิ่งที่พึงปฏิบัติไม่ให้เกิดบัตรเขย่งทำอย่างไร ซึ่งตัวอย่างที่ดีในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่มีบัตรเขย่งเลย ดังนั้นครั้งนี้เราหวังว่าจะไม่มีบัตรเขย่ง หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด
นายอิทธิพร กล่าวถึงการทุจริตเลือกตั้งว่า ขณะนี้มีเรื่องการซื้อเสียงเข้ามา 8 เรื่อง และ 15 เรื่องเป็นการหาเสียงหลอกลวง โดยกกต.ได้แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คน ซึ่งจะมีผู้ช่วย 1 คน มีชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยป้องกันทุจริตได้ อีกทั้งมีอาสาสมัครที่มาจากไอลอว์ และวีวอช เข้ามาช่วย จะช่วยป้องกันในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ อยากเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ถ้ามีข้อมูลเบาะแสแล้วแจ้งต่อกกต. หากนำไปสู่การพิพากษาว่ามีการกระทำความผิด กกต.มีเงินรางวัลชี้เบาะแสในกรณีถ้าพบการกระทำความผิดของผู้สมัครส.ส. 300,000 – 1,000,000 บาท
ส่วนการแจกใบส้ม ใบเหลืองกับผู้สมัครส.ส.นั้น ถ้า กกต.พบความปรากฎ และมีพยานหลักฐานทำให้เราเชื่อว่ามีทุจริตและยังไม่ได้ประกาศผล กกต.สามารถแจกได้ ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะให้ใบส้มกับใคร กกต.ตัดสินตามพยานหลักฐานตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนของกกต.
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า กกต.อาจไม่กล้าแจกใบส้ม เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้กกต.ชดใช้ค่าเสียหายของนายสุรพล เกียรติไชยากร ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายอิทธิพร กล่าวว่า กกต.พิจารณาเรื่องนี้บนข้อมูลหลักฐานในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวินิจฉัยแล้วผลที่จะตามมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ
เมื่อถามว่า กกต.จะพิจารณาเหตุทุจริตทันก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า จะทันหรือไม่ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินการของกกต. เพราะจะเชื่อมโยงต่อการประกาศผลเลือกตั้งที่จะต้องประกาศภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ถ้าสอบสวนไม่ทันก็สอบสวนต่อได้ ซึ่งการสอบสวนหลังการประกาศผลการเลือกตั้งจะไม่ได้แจกใบส้มแต่จะต้องแจกใบแดงแทนซึ่งศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสิน
เมื่อถามว่าหากครบ 60 วันแล้วพิจารณาเรื่องร้องเรียนไม่ทัน จะต้องปล่อยผีไปก่อนใช่หรือไม่ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาล นายอิทธิพร กล่าวว่า เราคงปล่อยแบบนั้นไม่ได้ จะเป็นการละเลยหน้าที่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และกระบวนการทำงานของเรา โดยเริ่มจากกกต.จังหวัด ถ้ามีพยานหลักฐานชัดก็เสนอความเห็นส่งมากกต.กลาง หากเป็นเรื่องเร่งด่วน กกต.จะพิจารณาทันที หากเห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนต้องสืบพยานหลักฐานเพิ่ม ก็จะส่งให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาก่อน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการและพยานหลักฐานที่มีอยู่