FootNote:รหัสนัย จดหมาย ฉบับที่ 7 ของ ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จดหมายเปิดผนึกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาพร้อมกับคำ ถามที่ว่าจะ “จัดตั้งรัฐบาลอย่างไร” และยืนยันปมหลักในทางการเมืองซึ่งค้างคาอยู่
ยืนยันการไม่มีส่วนร่วมกับ “รัฐประหาร” ตัดตนเองออกจากวงจรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สะท้อนให้เห็นจุดเปราะบางที่มีต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ
เป็นอันเด่นชัดยิ่งว่าข้อเสนอ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ก่อนหน้านี้แม้จะมีปัญหาอันเนื่องแต่บทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายสกลธี ภัททิยกุล
แต่ในความเชื่อมั่นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังดำรงจุดมุ่งหมาย “เดิม” ของพรรคพลังประชารัฐไม่แปรเปลี่ยน ยังคงฝากความมั่นใจอยู่ที่พันธมิตรข้ามแดน
หากมองผ่านการย้ายขั้วของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และตัวละครอันเป็นบัญชีรายชื่อ บางคนในกรอบแห่งบ้านป่ารอยต่อ เดิมก็ตระหนักในเครือข่าย
จึงมีการเน้นถึงสภาพพลิกผันอันเกิดกับพรรคประชาธิปัตย์ อันเกิดกับพรรคภูมิใจไทย ก่อนเดือนมิถุนายน 2562
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังมั่นใจใน “แนวทาง” ของตน
การดำรงอยู่ของจดหมายฉบับที่ 7 เท่ากับยืนยันการดำรงจุดมุ่ง หมายในทางการเมืองที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการเห็นก่อนการอำลา
ความหมายก็คือ ต้องการยืมมือจากชัยชนะของพรรคเพื่อไทย มาเป็นบันไดลงอย่างรอดปลอดภัย
แม้จะจำเป็นต้องใช้วิธีแบบเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องทำ
ในเมื่อแนวโน้มทางการเมืองอันแสดงผ่านการเลือกตั้ง เอนไปในทางที่คะแนนของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างสูง แม้ไม่บรรลุตามเป้า “แลนด์สไลด์” แต่ก็จะทำให้เป็นผู้กำหนด
การแยกตัวออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ จึงมีความจำเป็น และนี่คือทิศทางที่จะยิ่งเด่นชัด
ความเด่นชัดของจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 7 ก็คือความพยายาม ในการรั้งดึงและทำให้บทบาทในฐานะ “ผู้จัดการ” รัฐบาลยังอยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
อาวุธสุดท้ายก็คือ การรุกคืบเข้าไปใน 250 ส.ว.
นี่จึงนำไปสู่การต่อสู้อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
ท่าทีนี้จะส่งผลสะเทือนไปยังพรรคเคยร่วมรัฐบาลอื่นๆด้วย