เปิดตัวเลขน่าห่วง เด็กจมน้ำดับ ช่วงสงกรานต์ 10 ปี 95 ราย แนะ 6 ข้อเพิ่มปลอดภัย

Home » เปิดตัวเลขน่าห่วง เด็กจมน้ำดับ ช่วงสงกรานต์ 10 ปี 95 ราย แนะ 6 ข้อเพิ่มปลอดภัย


เปิดตัวเลขน่าห่วง เด็กจมน้ำดับ ช่วงสงกรานต์ 10 ปี 95 ราย แนะ 6 ข้อเพิ่มปลอดภัย

เปิดตัวเลขน่าห่วง เด็กจมน้ำดับ ช่วงสงกรานต์ 10 ปี มากถึง 95 ราย เหตุชวนกันไปเล่นน้ำ แต่ไม่มีทักษะเอาชีวิตรอด แนะ 6 ข้อเพิ่มความปลอดภัย

วันที่ 12 เม.ย.2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ทุกปีจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะมีหลายครอบครัวพาเด็กๆ ไปพักผ่อนตามแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ หนองน้ำ เป็นต้น หรือเด็กๆ อาจชวนไปเล่นน้ำกันเอง จนอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำ หรือจมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้

โดยข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2556-2565 พบว่า เม.ย.มีคนจมน้ำเสียชีวิต 3,174 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 758 ราย เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เม.ย.) ในช่วง 10 ปี ทุกกลุ่มอายุจมน้ำเสียชีวิต 446 ราย เป็นเด็ก 95 ราย เฉลี่ยวันละ 3.2 ราย มากกว่าช่วงวันปกติที่เฉลี่ยวันละ 2 ราย โดยในวันที่ 14 เม.ย. พบเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 4 ราย

“เหตุการณ์จมน้ำที่มักพบบ่อยในช่วงสงกรานต์ กลุ่มผู้ใหญ่มาจากกินเลี้ยงและดื่มสุรา แล้วชวนกันออกไปเล่นน้ำตามคลอง น้ำตก และลงว่ายน้ำ ส่วนกลุ่มเด็กเพราะไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว ไม่รู้วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง ทำให้จมน้ำเสียชีวิต” นพ.ธเรศกล่าว

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อแนะนำเพื่อให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ คือ 1.พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กๆ ชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง 2.หากครอบครัวพาเด็กไปพักผ่อนตามแหล่งน้ำ ให้ดูแลเด็กอย่าให้คลาดสายตา ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ เพราะอาจพลัดตกหรือลื่นลงน้ำได้

3.หากลงเล่นน้ำ ให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่าขนาด 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้ 4.ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือจมน้ำ จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

5.แหล่งน้ำสถานที่ท่องเที่ยว ต้องมีเจ้าหน้าที่ lifeguard คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้บริการ แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรม ต้องมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำติดตั้งเป็นระยะเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย และติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน เป็นต้น มีป้ายบอกระดับความลึกของน้ำ

และ 6.ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ ได้แก่ ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น กิ่งไม้ หรือเสื้อผ้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากพบคนจมน้ำหมดสติ ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจ และนำส่ง รพ.ทันที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ