บทบรรณาธิการ – ลดอุบัติเหตุทางถนน

Home » บทบรรณาธิการ – ลดอุบัติเหตุทางถนน


บทบรรณาธิการ – ลดอุบัติเหตุทางถนน

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนหรือศปถ. สั่งบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ กำหนดควบคุมอย่างเข้มข้นระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน

ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เพื่อให้เดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุ มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการอำนวยความสะดวก

มีเป้าหมายลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนให้ครอบคลุมทุกมิติ

เน้นการบังคับใช้กฎหมายและกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างวินัยจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งคุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท

พร้อมกันนี้ ก็ให้เฝ้าระวังและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการดำเนินมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์และสารเสพติด

เมื่อพลิกสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ที่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2565 นั้น

พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 1,917 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,869 คน ผู้เสียชีวิต 278 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 66 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 63 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รวม 13 ราย

ภาพรวมถือว่าการรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นกับผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายทางถนน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนจนนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินนั้น สาเหตุสำคัญพบว่ามาจากใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ ความไม่พร้อมของผู้ขับขี่ที่มีอาการง่วงนอน ความเครียด และอาการมึนเมาต่างๆ

นอกจากนี้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรป้ายเตือน ป้ายห้าม ข้อกำหนดต่างๆ บนท้องถนน ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ เพราะสมาธิจดจ่ออยู่กับการคุยโทรศัพท์ ทำให้ตัดสินใจไม่ทันการณ์เมื่อเกิดเหตุคับขันขึ้น

ความไม่พร้อมของรถยนต์ ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทั้งการเข้าตรวจเช็กระยะตามกำหนดให้ครบถ้วน และการบำรุงรักษาตามระยะ

ที่สำคัญอย่างมาก ได้แก่การมีสติสัมปชัญญะ ตื่นตัว ระแวดระวัง และตั้งอยู่บนความไม่ประมาทอยู่เสมอขณะขับยวดยานพาหนะ ก็จะนำมาซึ่งความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตนเองและผู้อื่นได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ