นกแอร์ หยุดบินเส้นทางแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ 19 เม.ย. นี้ โดยการเดินทางเข้าออกจังหวัดแม่ฮ่องสอนเหลือเพียงทางเดียวคือทางถนน ซึ่งก็จะมีทั้งหมด 3 เส้นทาง
วันที่ 10 เม.ย. 66 นางสาวชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน/รองประธานพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 19 เมษายน 2566 นี้ นกแอร์จะหยุดบินเส้นทางแม่ฮ่องสอน เหตุผลคือนกแอร์จะปลดระวาง เครื่องบินรุ่น Q400 ทั้งหมด (ซึ่งเป็นเครื่องใบพัดขนาด 86 ที่นั่ง) และจะเปลี่ยนเป็นเครื่องบินเจ็ท โบอิ้ง 737-800 (ขนาด 189 ที่นั่ง) การหยุดบินของนกแอร์ครั้งนี้ไม่ใช่เหตุผลอื่น เหตุผลเดียวคือนกแอร์เปลี่ยนเครื่องบินจากเครื่องใบพัดเป็นเครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่ขึ้น
นั่นหมายถึง ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นต้นไปจะทำให้การเดินทางเข้าออกจังหวัดแม่ฮ่องสอนเหลือเพียงทางเดียวคือทางถนน ซึ่งก็จะมีทั้งหมด 3 เส้นทางคือ 1. เชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน (ทล. 1095) 2. เชียงใหม่-ฮอด-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน (ทล.108) และ 3. เชียงใหม่-ดอยอินทนนท์- แม่แจ่ม- ขุนยวม-แม่ฮ่องสอน (ทล.1263)
ซึ่งทั้ง 3 ทางนี้จะใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 5-6 ชั่วโมง สำหรับคนขับที่ไม่ชินทางอาจใช้เวลายาวนานถึงกว่า 7 ชั่วโมง
นางสาวชนเขต กล่าวต่อว่า เครื่องใหญ่ 737-800 สามารถมาลงสนามบินแม่ฮ่องสอนได้ เพราะสนามบินแม่ฮ่องสอนมีความกว้าง 30 เมตร และมีความยาวถึง 2000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เพียงพอในการรองรับเครื่องบินเจ็ท 737 และในอดีตการบินไทยเคยใช้เครื่อง 737-400 ให้บริการในเส้นทางแม่ฮ่องสอนมาแล้ว แต่ถ้าถามว่านกแอร์หรือผู้ประกอบการสายการบินอื่น ๆ ที่มีเครื่องขนาดใหญ่จะมาบินเส้นทางนี้ได้ไหม อันนี้คงต้องมีหลายเหตุผลประกอบ
ถ้าถามถึงความต้องการของคนในพื้นที่ คนส่วนใหญ่ก็จะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เราอยากให้มีเครื่องบินให้บริการเส้นทางเชียงใหม่- แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ เราไม่ฝันไกลถึงเส้นกรุงเทพฯ ตอนนี้เราขอไปให้ถึงเชียงใหม่ได้สะดวกก็พอ
การเดินทางที่สะดวกมันยังหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย ข้าราชการที่มาปฏิบัติงาน วิทยากรและบุคลากรผู้มีองค์ความรู้มากมายหลายท่านที่ตั้งใจอยากจะมาช่วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ้าเดินทางเข้าออกสะดวกก็จะเกิดแรงจูงใจให้บุคคลเหล่านี้ตัดสินใจมาได้โดยง่าย
อันนี้เรายังไม่พูดถึงระดับเศรษฐกิจ ที่การเดินทางสะดวกจะช่วยดึงดูดคน ดึงดูดนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ภาคเอกชน/ภาคการท่องเที่ยวก็จะมีพลังในการสร้างสรรงานดีๆที่จะตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เมื่อเศรษฐกิจดี เมืองมีทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ประชากรก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง คุณภาพชีวิตโดยรวมก็จะดีขึ้นและเราก็จะเป็นภาระให้กับรัฐบาลน้อยลง (โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนติดอันดับยากจนที่สุดในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง)
แต่ถ้าถามผู้ประกอบการสายการบินว่ามาบินแม่ฮ่องสอนได้มั้ย เรารู้ดีว่าสิ่งแรกที่ธุรกิจต้องมองคือความคุ้มทุน แน่นอนว่าเครื่องใหญ่มาลงได้ รันเวย์เรายาวพอ แต่จำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวจะเพียงพอให้สายการบินมั่นใจและตัดสินใจมามั้ย อันนี้คือที่ต้องคุยกัน เครื่องบินที่ใหญ่ขึ้นความจุของผู้โดยสารก็มากขึ้นตาม จำนวนคน 189 ที่นั่งในแต่ละไฟล์ททั้งไปและกลับ
อย่างน้อยถึงไม่ต้องเต็มแต่คงต้องมากกว่า 100 คนขึ้นไป อันนี้เป็นโจทย์ยากพอสมควร (แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้นะคะ ช่วงที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์เส้นทางดอนเมือง-แม่ฮ่องสอนก็มี Demand ที่สูงมาก ผู้โดยสารแน่น เต็ม เกือบทุกไฟล์ท) แต่ก็นั่นแหละ ทุกภาคส่วนคงต้องหาทางออกร่วมกันหากต้องการให้สายการบินที่มีเครื่องขนาดใหญ่มาให้บริการในเส้นทางนี้
แล้วถ้าเครื่องใหญ่ไม่มา ทางเลือกอื่นมีอะไรอีก? คำตอบเดียวคือ ต้องเป็นสายการบินที่มีเครื่องขนาดเล็กให้บริการอยู่ ซึ่งปัจจุบันที่ยังเห็นจะมีเจ้าเดียวคือ Bangkok Airways ที่เป็นเครื่องใบพัด ATR-72 ความจุประมาณ 70 ที่นั่ง ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาก ส่วนสายการบินใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นนั้นทราบมาว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบการบิน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หอการค้าหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบิน ร่วมกับ ททท.จังหวัดและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เรากำลังผนึกกำลังร่วมกันเพื่อพยายามหาทางออกอย่างมีขั้นมีตอน ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้นิ่งเฉย เรากำลังพยายามหาทางพูดคุยเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งทางออกที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและทุกๆฝ่าย
ที่สำคัญ แม่ฮ่องสอนต้องไม่โดนตัดขาดจากโลกภายนอก เราต้องมีช่องทาง เราต้องได้รับการต่อท่อช่วยหายใจ อย่างน้อยต่อให้ถึงเชียงใหม่ก็ดีใจแล้ว การเดินทางที่สะดวกปลอดภัยในราคาที่จับต้องได้จะช่วยต่อชีวิตและอนาคตของแม่ฮ่องสอนได้อีกเยอะมากในหลากหลายมิติ ขอเพียงมีคนได้ยินเสียงพวกเราและร่วมกันคิดร่วมกันหาทางออก คนแม่ฮ่องสอนยอมรับสภาพความลำบากหลายๆด้านมาโดยตลอดอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ครั้งนี้อย่างน้อยขอการเดินทางเข้าออกที่สะดวก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้างของคนในจังหวัดเล็กๆไกลๆแห่งนี้