กกต. สัมมนาสื่อ เตรียมการเลือกตั้ง เตือนนักวิชาการ เดินสายออกรายการคุยเลือกตั้ง ให้อ่านกฎหมายก่อน ย้ำรายงานคะแนนไม่ใช้แอพฯ รู้ผลไม่เกิน 4 ทุ่มแน่
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถ.แจ้งวัฒนะ สักนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน ในการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย สื่อโทรทัศน์ จำนวน 19 แห่ง หนังสือพิมพ์ จำนวน 11 แห่ง สำนักงานข่าวต่างประเทศ 7 แห่ง สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุและเครือข่ายสำนักงาน กกต. 7 แห่ง
โดยมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนา พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า ความสับสนของประชาชนไม่ได้เกิดจากสื่อมวลชนนำเสนอ แต่ขอฝากถึงคนที่ไปออกรายการ ก่อนไปออกรายการก็ขอให้ศึกษากฎหมาย ทราบว่าบางท่านเป็นคนที่ประชาชนรู้จักดี แต่การให้ความเห็นไม่ได้ดูกฎหมายเลย ทำให้ทางสำนักงานฯ ต้องออกไปชี้แจงกับเรื่องนี้มาก เพราะการเลือกตั้งคือการใช้กฎหมายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
นายแสวง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่างาน กกต. มีความสับสนอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การรายงานผล 2.บัตรเลือกตั้ง เรื่องการรายงานผลนั้น มี 2 อย่าง คือ 1.แบบเป็นทางการ 2.แบบไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ผลแบบเรียลไทม์หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราก็ทำ และครั้งนี้ก็เป็นแบบเรียลไทม์ แต่ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชั่น เป็นการรายงานแบบนำผลคะแนน 5/18
โดยเมื่อได้รับผลจากการรวมคะแนน เราจะเอาผล 5/18 ไปปิดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง และนำคะแนนเข้าระบบทราบคะแนน เวลา 19.00 น. และไม่เกินเวลา 22.00 น. ก็ทราบผลร้อยเปอร์เซ็นต์แบบไม่เป็นทางการ ส่วนทำไมกกต.ไม่ใช้แอปพลิเคชั่นรายงานผล เพราะแอปพลิเคชั่นนั้นยังไม่สามารถแก้ไขระบบที่มีคนกรอกข้อมูลผิดพลาดได้
นายแสวง กล่าวต่อว่า เนื่องจากเราต้องใช้คนกรอกข้อมูลที่เป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งต้องกรอกคะแนนกว่า 70 ชุด ก็อาจจะเหนื่อยล้า และอาจจะมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ เราต้องการความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ วันนี้เราทำเพื่อสื่อมวลชน และประชาชน เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ซึ่งตอนนี้เราทำระบบเสร็จแล้ว แต่ต้องการซักซ้อมกับทางสื่อมวลชน ในการใช้ระบบที่จะรายงานผล
นายแสวง กล่าวอีกว่า หลายคนถามว่าความโปร่งใสอยู่ที่ไหนนั้น ต้องบอกว่าความโปร่งใสบางอย่างเห็นได้เลย เช่น การนับคะแนนหน้าหน่วย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากผลคะแนนที่ปิดที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งทำไมไม่มีสัญลักษณ์พรรคนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า สีของบัตร และหมายเลขของผู้สมัคร ต้องแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ถ้าอยากทำให้มีชื่อและสัญลักษณ์พรรคนั้น มันจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจะเกิดความสับสนต่อประชาชนได้ อาจเป็นเหตุให้คนไปร้องได้ว่า กกต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
เชิญร่วมโหวตครั้งประวัติศาสตร์ “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง ’66 เลือกนายกฯ ที่ใช่-เลือกพรรคการเมืองที่ชอบ คลิกทำโพลได้ที่ >> https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ #โหวตอนาคต #โพลเลือกตั้งมติชนเดลินิวส์ #เลือกตั้ง66 #มติชนเลือกตั้ง66