เปิดตำนานการดราฟต์ : กฎเลือกผู้เล่นที่สร้างความเท่าเทียมแบบอเมริกันชน

Home » เปิดตำนานการดราฟต์ : กฎเลือกผู้เล่นที่สร้างความเท่าเทียมแบบอเมริกันชน
เปิดตำนานการดราฟต์ : กฎเลือกผู้เล่นที่สร้างความเท่าเทียมแบบอเมริกันชน

เชื่อเหลือเกินว่าชีวิตของเรา หากมีคนให้โอกาสครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการงาน ความรัก หรือ อะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องคว้ามันใว้ให้ได้ และนำความรู้ที่ได้จากสิ่งที่เคยทำผิดพลาด กลับไปพิสูจน์ตัวเองใหม่อีกครั้ง

ในโลกของอเมริกันเกมส์อย่าง NFL ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าโอกาสครั้งที่สอง มาในรูปแบบของระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตัดความผูกขาดและสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคน มีทั้งความแฟร์ สนุก และ น่าสนใจ จนค่ายโปรดักชั่น ไลออนส์เกต นำไปทำเป็นภาพยนตร์ Draft Day เมื่อปี 2014 พร้อมวลีเด็ดฟังติดหู

“ฉันมีตั๋วทองคำซันนี่ ถ้าฉันให้คุณ คุณจะได้ช่วยชีวิตของเมืองคลีฟแลนด์”

 

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการดราฟต์ถึงถือเป็นการซื้อ-ขาย นักกีฬาที่เท่าเทียมที่สุด และเร้าใจที่สุด ติดตามที่นี่

ความห่างชั้น คือความอ่อนแอ 

บาสเกตบอล NBA, เบสบอล MLB, อเมริกันฟุตบอล NFL … 3 รายการแข่งขันจาก 3 ชนิดกีฬาที่คนอเมริกันคลั่งไคล้ที่สุด มี 1 สิ่งที่เหมือนกันเป๊ะ และได้รับความสนใจจากแฟน ๆ ของพวกเขาเสมอมา นั่นคือการ “ดราฟต์” ซึ่งถือเป็นการเสริมทัพ เสริมทีมในแบบที่ว่ากันว่า “แฟร์ที่สุดในโลกนี้” และมีแค่ที่สหรัฐอเมริกาที่เดียวเท่านั้นที่เลือกใช้วิธีการดราฟต์เช่นนี้ 

ดราฟต์ เป็นอีเวนท์ที่ทุก ๆ ทีมจะต้องมารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่ตัดสินอนาคตและความสำเร็จของทีมในอนาคต ทุก ๆ ทีม จะมีโอกาสได้เลือกผู้เล่นที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด เก่งที่สุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับทีมของพวกเขา ทุกวันนี้ ดราฟต์ เดย์ จึงกลายเป็นวันที่แฟน ๆ กีฬาอเมริกันจะรวมตัวกันหน้าโทรทัศน์ ติดตามข่าวสารกันทั้งวันโดยไม่กระดิกไปไหน เพียงเพื่อต้องการรู้ว่าที่สุดเเล้วทีมของพวกเขาจะได้ผู้เล่นเก่ง ๆ คนใดมาเสริมทัพบ้าง 

การดราฟต์นั้นคือการสะท้อนตัวตนของชาวอเมริกันโดยแท้ เพราะจุดเริ่มต้นมาจากกีฬาอเมริกันฟุตบอล กีฬาประจำชาติที่ทุกวันนี้มีผู้ติดตามอยู่ทั่วโลก … ซึ่งกว่าที่การดราฟต์จะกลายเป็นอีเวนท์ที่คนรอชมมากที่สุด เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากเพียงคน ๆ เดียวเท่านั้น ชื่อของเขาคือ สแตน คอสต์กา (Stan Kostka) 


Photo : www.metmuseum.org

สแตน นั้นเป็นนักอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย มินเนโซตา เขาเล่นในตำแหน่ง ไลน์แบ็คเกอร์ และในช่วงยุค 30s ว่ากันว่า สแตน จะเติบโตมาเป็น Cheat Code ของ NFL หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นตัวโกงนั่นเอง เพราะเขาเป็นตัวโกงมาตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย สูง 183 เซ็นติเมตร หนัก 102 กิโลกรัม เนื้อตัวของสแตนพูดได้ว่าเกิดมาเพื่อเป็นไลน์แบ็คเกอร์โดยแท้จริง 

ข่าวของสแตนแพร่ไปทั่ววงการ NFL ว่ามีผู้เล่นปรากฎการณ์เกิดขึ้นที่ มินเนโซตา ซึ่งในเวลานั้นการเอาผู้เล่นเข้าทีมนั้นไม่ได้ใช้การดราฟต์ แต่เป็นการติดต่อกับผู้เล่นโดยตรงและเสนอค่าจ้างรวมถึงโบนัสให้กับผู้เล่น ทีมไหนข้อเสนอดีกว่า ทีมนั้นก็ได้ลายเซ็นไป … ซึ่งแน่นอนว่าทีมไหนมีเงินเยอะกว่า และมีความสำเร็จมากกว่า ทีมนั้นก็ย่อมจะมีโอกาสชนะในการล่าผู้เล่นระดับคุณภาพนี้ 

“มีทีมส่งยื่นข้อเสนอมามากมาย ทีมหนึ่งบอกว่าจะให้ผม 3,500 ดอลลาร์ต่อปี ผมเลยบอกพวกเขากลับไปว่ามี กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส, ชิคาโก แบร์ส, นิวยอร์ค ไจแอนท์ส, พิตเบิร์ก สตีลเลอร์ส และ บรูคลิน ด็อดเจอร์ส เสนอให้ผมปีละ 4,000 … จากนั้นพวกเขาก็ตอบกลับครั้งสุดท้าย โดยให้ผมเซ็นสัญญาค่าจ้างปีละ 5,000 และโบนัสอีก 500 เหรียญกับ บรูคลิน” สแตน ย้อนความกลับไปในปี 1935 

ณ เวลานั้นผู้เล่นทีดีที่สุดในลีกที่ชื่อว่า บรองโก นาเกอร์สกี (Bronko Nagurski) ที่คว้าแชมป์ NFL มา 2 สมัย ติดทีมออลโปรอีก 3 ครั้ง ยังได้ค่าเหนื่อยแค่ปีละ 400 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง …

 

การเปรียบเทียบตรงนี้คุณเริ่มจะเห็นความไม่เท่าเทียมหรือยัง ? สำหรับแฟนฟุตบอลยุโรปคงไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร เพราะการทุบเพดานค่าจ้างเพื่อนักเตะเก่ง ๆ สักคน เป็นอะไรที่ปกติมาก แต่ที่สหรัฐอเมริกานั้น กีฬาของพวกเขามาในรูปแบบของ แฟรนไชส์ ไม่มีการตกชั้นเลื่อนชั้น ดังนั้นการจะทำลีกให้สนุกจำเป็นจะต้องลดช่องว่าง ลดระยะห่างจากทีมเก่งสุด ถึง อ่อนสุด ให้แคบที่สุดเพื่อความเท่าเทียม และเป็นการรักษามูลคค่าของลีก ให้ยังสนุกและดึงดูดคนดูต่อไป … เมื่อนั้น ดราฟต์ เดย์ ครั้งแรกจึงเกิดขึ้น หลังจากที่ สแตน เซ็นสัญญากับ บรูคลิน เพียงปีเดียวเท่านั้น

ก่อนการดราฟต์ของ NFL จะมาถึงวันที่ถูกจัดขึ้นอย่างกับงานพรมแดงแห่งค่ำคืนมหัศจรรย์ที่มีความหรูหราอลังการ จุดเริ่มต้นของมันต้องย้อนกลับไปในปี 1936 ที่โรงแรม Ritz-Carlton ในเมือง ฟิลาเดลเฟีย รัฐ เพนซิลเวเนีย สถานที่ซึ่งจัดการดราฟต์ครั้งแรก 

ไอเดียดังกล่าวถูกนำเสนอครั้งแรกโดย เบิร์ท เบล ผู้ก่อตั้งทีม ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ ที่ตอนนั้นทีมของเขากำลังตั้งไข่ ไร้เงินทอง อีกทั้งลงสนามก็หนักไปทางแพ้ เพราะไม่ได้มีผู้เล่นเก่ง ๆ ในตำแหน่งสำคัญ ๆ เหมือนกับทีมอื่น ๆ เขา


Photo : fanspeak.com

เบิร์ท จึงส่งไอเดียเรื่องการดราฟต์เพื่อให้ทีมของเขาที่อ่อนที่สุดในลีก ได้สิทธิ์ในการเลือกผู้เล่นใหม่จากมหาวิทยาลัยก่อนเป็นทีมแรก “เพื่อความเท่าเทียม” … และไอเดียนี้ถูกใจคณะกรรมการของ NFL เป็นอย่างมาก

 

“การขาดความยุติธรรมต่อคู่ต่อสู้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ” นี่คือสิ่งที่ เอมมา โกลด์แมน หนึ่งในคณะกรรมชุดนั้นว่าไว้ และจากนั้นก็เกิดการระดมสมองครั้งใหญ่ และร่วมกันร่างกฎออกมาว่า “ทีมที่มีอันดับแย่ที่สุดจากฤดูกาลก่อน ได้มีสิทธิเลือกผู้เล่นก่อน แล้วค่อยให้ทีมที่มีผลงานดีที่สุดเลือกทีหลัง”

นั่นเองทำให้การแข่งขัน NFL ในฤดูกาล 1936 ถูกบันทึกว่ามีการใช้ระบบการดราฟต์เป็นครั้งแรก และผู้เล่นคนแรกที่โดนดราฟต์คือ บรูซ สมิธ ตำแหน่ง ดีเฟนซีฟเอนด์ จากมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย เทค ซี่งทีมที่ดราฟต์ตัวเขาไปก็คือทีมบ๊วยของฤดูกาล 1935 อย่าง ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ นั่นเอง

ทำให้มันสนุก ๆ หน่อยสิ … 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กีฬาในแบบฉบับคนอเมริกันนั้นไม่เหมือนที่ไหน นอกจากจะเน้นเรื่องการลดระยะห่างจากทีมอันดับถึงอันดับสุดท้าย พวกเขายังให้ความสำคัญสิ่งที่มากกว่าฟอร์มการเล่นในสนามอีกด้วย

และอะไรล่ะที่จะขายได้นอกจากการถ่ายทอดสดการแข่งขัน? แน่ละ 100 ทั้ง 100 ไม่มีแฟน ๆ คนไหนที่ไม่ชอบเรื่องราวของตลาดซื้อขายและการเสริมทัพ  ดังนั้น NFL จึงตัดสินใจพัฒนา ดราฟต์ เดย์ ไปอีกครั้ง ให้มันเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ขายได้ และดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง

 

NFL เจาะลึกไปถึงขั้นการเรียกกระแส ตั้งแต่การเปิดตัวเหล่านักกีฬาที่จะเข้าระบบดราฟต์ในแต่ละปี เพราะในช่วงปี 1982 มีการจัดอีกอีเวนท์หนึ่งขึ้นมา เป็นอีเวนท์ที่จะเอานักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจที่สุดเป็นจำนวนมากกว่า 300 คน มารวมตัวเพื่อ “ปล่อยของ” กล่าวคือนักกีฬาที่เข้าร่วมทุกคนจะต้อง โชว์ฟอร์มการเล่นต่อหน้าแมวมองจากทุกทีม กับอีเวนท์ Scouting Combine นั่นเอง


Photo : www.indystar.com

เหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะในระดับมหาวิทยาลัยนั้นผลิตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลมามากกว่า 1,000 คนต่อปี … การที่แต่ละทีมจะรู้ว่าคนไหนเก่งจริง คนไหนดีไม่พอสำหรับลีกอาชีพ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก หากปล่อยให้พวกเขาต้องเดินทางไปส่องฟอร์มถึงสนามแข่ง หรือการเปิดชาร์ตสถิติแต่เพียงอย่างเดียว เรื่องนี้ทำให้โค้ชต้องปวดหัวเพราะต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะหากเดินหมากพลาด ก็จะเสียงบประมาณไปฟรี ๆ กับผู้เล่นที่ใช้งานไม่ได้ 

ดังนั้นงาน Scouting Combine จึงจัดขึ้นเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการให้ทุกทีมในลีกได้ดูสไตล์การเล่นของนักกีฬาทุกคน พวกเขาจะได้เห็นนักกีฬาลงโชว์ฟอร์มจริง ๆ โดยมีหลายการทดสอบทั้ง ทดสอบความเร็วในการวิ่ง 40 หลา ต่อด้วยการวิ่งระยะสั้นแบบ 20 หลา ที่เรียกว่า Shuttle Run แถมยังมีการกระโดดสูง กับกระโดดไกลใน Vertical / Broad Jump ปิดท้ายด้วยการดูพลังอกในการทำ Bench Bress นอกจากนี้ยังมีการโชว์ทักษะต่าง ๆ ตามตำแหน่งแล่นของแต่ละคนอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ หลังการทดสอบทุกอย่างจบลง เหล่าแมวมอง หรือบางครั้งผู้บริหารก็ลงมาลุยเอง จะได้พูดคุยกับนักกีฬาที่ตัวเองสนใจ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับนิสัยของนักกีฬาแต่ละคน การทำเช่นนี้เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้แต่ละทีมตัดสินใจในการเลือกผู้เล่นในการดราฟต์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

เรียกได้ว่างาน Scouting Combine เป็นอะไรที่ปังแบบสุด ๆ เพราะนอกจากจะง่ายต่อทีมแมวมองและการตัดสินใจเลือกผู้เล่นของโค้ชแล้ว ยังมีการถ่ายทอดสดให้แฟน ๆ NFL ได้เห็นไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งจุดนี้เองทำให้แฟน ๆ หรือแม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ นำไปต่อยอดในการทำคอนเทนท์ต่าง ๆ เช่นการวิเคราะห์ผู้เล่นแต่ละคนว่าเหมาะกับทีมไหน ผู้เล่นคนใดจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทีมใน NFL ตามหา … ทุกอย่างเป็นคอนเทนท์ได้หมด และเมื่อเป็นคอนเทนท์ได้ ก็แปลว่ามันทำเงินได้นั่นเอง 

 

บู๊ได้ต้องบุ๋นด้วย 

หาก Scouting Combine คือการขายคอนเทนท์เรื่องศักยภาพของนักกีฬาแล้ว NFL ก็ต้องการทำบางสิ่งให้แฟน ๆ ได้เห็นถึงศักยภาพการต่อรอง การวางแผน และไหวพริบในการเจรจาของเหล่าโค้ชหรือเจ้าของทีมด้วย ซึ่งจุดนี้แฟน ๆ ก็จะได้เห็นและสนุกกันต่ออีกขั้น เมื่อมาถึงช่วงเวลาที่แต่ละทีมต้องตัดสินใจว่า “จะเลือก หรือ จะแลก ?” 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อันดับของการดราฟต์จะขึ้นอยู่กับสถิติที่แต่ละปีทำใว้ในปีผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นใน NFL ดราฟต์ของปี 2021 แจ็กสันวิลล์ แจกัวร์ส จะได้เลือกผู้เล่นเป็นทีมแรก จากการจบฤดูกาล 2020 ด้วยสถิติ ชนะ 1 แพ้ 15 การได้เลือกอันดับแรกสุดของการดราฟต์เปรียบเสมือนการได้เดินไปตักอาหารบุฟเฟ่ต์ก่อน ได้เลือกเมนูที่ยังมีอยู่ครบ ไม่ต้องรอกินของเหลือของคนอื่น


Photo : operations.nfl.com

ส่วน แชมป์ซูเปอร์โบวล์อย่าง แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส จะได้เลือกเป็นทีมสุดท้ายของแต่ละรอบ ไม่ว่าจะรอบแรก หรือ รอบเจ็ด บัคคาเนียร์สต้องรอสิทธิในการดราฟต์สุดท้าย เหมือนการกินอิ่มกับการได้แชมป์ในปีผ่านมาแล้ว ปีนี้ก็ต้องรออาหารจานสุดท้ายบนโต๊ะ 

แต่ถ้าจะให้ทุกทีมดราฟต์ตามตำแหน่งที่ถูกจัดวางใว้ให้ก่อนแข่งมันก็จะค่อนข้างน่าเบื่อเกินไป และไม่สมกับการเป็นกีฬาชั้นนำของโลกในเรื่องความเอนเตอร์เทน เพราะฉะนั้น การเทรด หรือ การแลกเปลี่ยน จึงเกิดขึ้น 

ทางลีกจะอนุญาตให้ทุกทีมสามารถแลกเปลี่ยนตำแหน่งการดราฟต์กันได้ โดยการย้ายตำแหน่งหรือสิทธิในการดราฟต์ของแต่ละทีมเลือกที่จะทำการดีลกับทีมอื่น ๆ ได้ตามที่ต้องการ เรามักเห็นการเทรดสองแบบ 

วิธีแรกคือการแลกผู้เล่นกับตำแหน่งการดราฟต์ อย่างเช่นในปี 2021 ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ ได้ทำการแลก คาร์สัน เวนซ์ ผู้เล่นตำแหน่ง ควอเตอร์แบ็ค ไปให้กับ อินเดียนาโปลิส โคลทส์ เพื่อแลกกับสิทธิ์ดราฟต์รอบ 3 ในปี 2021 และสิทธิ์ดราฟท์รอบ 2 ปี 2022 ทำให้ในการดราฟต์ผู้เล่นปี 2021 อีเกิลส์ จะได้เลือกตัวผู้เล่นในรอบ 3 ถึง 2 ครั้ง แทนที่จะเป็นครั้งเดียว

ส่วนวิธีการเทรดอีกแบบ คือการแลกตำแหน่งเทรดของกันและกัน เคสนี้เห็นได้จากหนัง Draft Day ในเรื่อง ซอนนี่ วีเวอร์ จูเนียร์ ผู้จัดการทั่วไปของทีม คลีฟแลนด์ บราวน์ส (แสดงโดย เควิน คอสเนอร์) ได้แลกตำแหน่งการเลือกของทีมในรอบแรกของปีนี้ (ตามท้องเรื่องคือปี 2014) ปีหน้า และ ปีถัดไป เพื่อคว้าสิทธิในการเลือกเป็นทีมแรกสุดของดราฟต์มาจากทีม ซีแอตเทิล ซีฮอว์คส จากเดิมที่ทีมบราวน์สจะได้เลือกเป็นทีมอันดับ 7

ปัจจัยสำคัญที่ทีมในตำแหน่งดราฟต์สูง ๆ อาจไม่ต้องการเลือกผู้เล่นก่อน แล้วพร้อมจะมอบสิทธิ์ให้กับทีมอื่น เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน ทีมไหนต้องการแก้ไขปัญหาทีมด่วนและมีเงินเหลือ พวกเขาก็สามารถเลือกใช้การเทรดเพื่อแก้ปัญหาทีมได้  ซึ่งการเทรดนี้เอง ทำให้เป็นเรื่องปกติที่ทีมพร้อมเปย์ผู้เล่นจะขอทำการเทรดเพื่อได้สิทธิ์ในการเลือกผู้เล่นก่อน


Photo : dawgpounddaily.com

ส่วนทีมที่ไม่ได้เหลือเงินถุงเงินถังก็ไม่รอช้างาบอ้อยที่เข้าปากช้าง เพราะพวกเขาอาจจะไม่ได้หวังอะไรใหญ่โตถึงขั้นเป็นแชมป์ แต่การได้รับข้อเสนอการเทรดนั้น “ตรงสเป็ค” พวกเขามากว่า เพราะมันทำให้ทีมที่เหลืองบไม่มากสามารถยอมหลีกทางเพื่อเซฟค่าใช้จ่ายได้นั่นเอง 

แม้จะเป็นเหมือนการ “แลก” กันธรรมดา ๆ ทว่าความสนุกของแฟน ๆ ที่ติดตามการดราฟต์แบบตาติดจอคือพวกเขาจะได้เห็นการวางแผน สกิลบุ๋น และเดิมพันของเหล่าโค้ชและผู้บริหารทีมในการดราฟต์แต่ละครั้ง ว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจนั้น จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแค่ไหนในอนาคต

เหรียญสองด้านของการดราฟต์ 

อธิบายมาถึงตอนนี้หลาย ๆ คนน่าจะพอจับประเด็นข้อดีของระบบ NFL ดราฟต์ได้อยู่หลายเรื่อง เริ่มจากการเอื้อไม่ให้เกิดการผูกขาด เมื่อเทียบลีกกีฬาที่ดึงดูดคนมากสุดของโลกอย่างฟุตบอล


Photo : www.theanfieldwrap.com

ยกตัวอย่างฟุตบอล พรีเมียร์ ลีก ที่ไม่มีระบบการดราฟต์ตัวผู้เล่นจากทีมมหาวิทยาลัยหรือระบบอคาเดมีฟุตบอลแต่อย่างใด ลีกปล่อยให้แต่ละทีมในช่วงตลาดซื้อขายช็อปตามเงินที่มี ทีมใหญ่ก็ซื้อไป ทีมเล็กก็เก็บตังค์ หรือจะปั้นเด็กขึ้นมาก็ตามแต่ 

และเมื่อมองไปถึงทีมทำเนียบแชมป์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากปี 2016 ที่ เลสเตอร์ ซิตี้ สามารถหักปากกาเซียนคว้าแชมป์ได้ อีก 9 ปีมีแชมป์เพียงสี่ทีมเท่านั้น แถมยังเป็นทีมในกลุ่ม Big 6 หรือทีมใหญ่ แมน ซิตี้ (4) แมน ยูฯ (2) เชลซี (2) และ ลิเวอร์พูล (1) ทั้งหมดเลย 

ในทางกลับกัน แชมป์ซูเปอร์โบวล์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีทีมเดียวที่ชนะมากกว่าหนึ่งครั้ง นั่นก็คือ นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ที่มีควอเตอร์แบ็คจากการดราฟต์ปี 2000 อย่าง ทอม เบรดี นำทีมคว้าชัยได้ถึงสามสมัย ส่วนอีกเจ็ดปีที่เหลือล้วนแล้วเป็นแชมป์ไม่ซ้ำหน้า 

ชัดเจนที่สุด คือทีมอย่าง แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ที่คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี ตัวแปรและจุดเปลี่ยนสำคัญคือ แพทริก มาโฮมส์ ผู้เล่นที่ถูกเลือกมาเป็นตัวดราฟต์แรกของทีมในปี 2017 (แถมยังเป็นการได้มาด้วยการเทรด จากอันดับเดิม 27 ขึ้นไปอันดับ 10 เพื่อไปคว้าตัวอีกต่างหาก) ซึ่งหลังจากนั้น ทีมก็ใช้ มาโฮมส์ เป็นศูนย์กลางของทีม และพลิกชะตาจากทีมที่ไม่เคยคว้าแชมป์มากว่าครึ่งศตวรรษ กลายเป็นตัวเต็งของ NFL ในเวลานี้ 


Photo : cnn.com

เช่นเดียวกัน หากตัดสินใจผิดพลาด ทีมก็พินาศได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ดราฟต์แรกของปี 2007 อย่าง จามาร์คัส รัสเซลล์ ควอเตอร์แบ็คชื่อดังจากมหาวิทยาลัย หลุยเซียนา สเตท ที่ถูกทีม โอคแลนด์ เรดเดอร์ส เลือกเป็นผู้เล่นคนแรก 

ครั้งนั้น โอคแลนด์ มอบสัญญาให้ รัสเซลล์ 6 ปี มูลค่า 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับพังทลายไม่ได้ลุ้นเลยแม้แต่น้อย เพราะเขาเล่นกับทีมได้ไม่ถึง 3 ฤดูกาล กับผลงานสุดห่วย ทำเพียง 18 ทัชดาว์น แต่เสียถึง 23 อินเตอร์เซปต์ จนเรดเดอร์สทนไม่ได้กับการเล่น แล้วยอมตัดตัวเขาออกไป เสียเงินการันตีในสัญญา 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แบบเต็ม ๆ แถมต่างฝ่ายยังต้องขึ้นศาล เพื่อสิทธิ์ในค่าเหนื่อยส่วนที่เหลือที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าพึงได้รับอีก


Photo : bleacherreport.com

นี่คือเองคือความสนุกของการดราฟต์ เพราะก่อนจะตัดสินใจเลือกผู้เล่นนั้น ต้องคิดเเล้วคิดอีกเพราะมันหมายถึงการกำหนดทิศทางและอนาคตของทีมได้ … ได้สิทธิ์ดราฟต์เป็นทีมแรกไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้ทองแท้เสมอไป หากคุณตาไม่แหลมพอ คุณอาจจะได้ทองลอกแบบที่ เรดเดอร์ส ได้รับก็เป็นได้..

ทั้งหมดนี้คือกฎของการดราฟต์ ที่ทำให้แฟรนไชส์ของ NFL หรือเมริกันเกมส์อื่นๆ ยังคงน่าลุ้นน่าติดตามจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้จะไม่ใช้กีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของโลก ก็ต้องยอมรับว่าการทำให้ลีกมีความเท่าเทียมคาดเดายาก รวมถึงการตีแผ่เรื่องราวให้มันซับซ้อนซ่อนเงื่อและใช้ไหวพริบ ก็ถือเป็นความสำเร็จที่พวกเขายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว … นั่นคือนอกจากลีกจะรักษาความสนุกเอาไว้ได้ พวกเขายังได้คอนเทนท์ที่สามารถทำเงินและนำมาพัฒนาองค์กรที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ