ทิศทางการ “ก้าวข้าม” ความขัดแย้งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นอย่างไร
เป็นคำถามอันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหลัง นายสกลธี ภัททิยกุล และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สำแดง
พลังผ่านหน่วย “การ์ด” อันกำยำล่ำสัน
สามารถผลักดัน “เยาวชน” กลุ่มเล็กๆ ออกจาก “แนว”
ขณะเดียวกัน ยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อปรากฏภาพ “วัยรุ่น” จำนวนหนึ่งประเคนบาทา
กระหน่ำร่างของ “เยาวชน” ที่ตกค้างอยู่ในแนว
ก่อให้เกิดคำถามว่า นี่หรือคือวิธี “ก้าวข้าม” อันทรงพลัง
ต้องยอมรับว่าเวทีใต้สะพานพระราม 8 เป็นเวลาของพรรคพลังประชารัฐชัดเจน
เป็นความชัดเจนเมื่ออยู่ในการบริหารจัดการของ นายสกลธี ภัททิยกุล ประสานเข้ากับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ทั้งยังพึ่งบริการ “ปราศรัย” จาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
เป็นงานการเมืองในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครในความจัดเจนของ นายสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งมี
ประสบการณ์ในแบบของ “กปปส.” อย่างมหาศาล
แต่จะสอดรับกับ “ก้าวข้าม”ความขัดแย้งหรือไม่ ยังเป็นคำถาม
ความละเอียดอ่อนอยู่ที่ “ก้าวข้าม” เป็นไม้เด็ดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เป้าหมายไม่เพียงเพื่อสร้างจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเปิดเผย
หากแต่ยังเป็นการปูทางและสร้างเงื่อนไขในการสร้าง “ไมตรี”
เป็นไมตรีในลักษณะของการฟอกขาวให้ตนเองได้หลุดพ้นจากปลักอันเนื่องมาแต่รัฐประหารไม่ว่าเมื่อปี 2549 ไม่ว่าเมื่อปี 2557
แต่ก็พังครืนราวปราสาททรายเมื่อเกิดเหตุการณ์สะพานพระราม 8
ความศักดิ์สิทธิ์จากจดหมาย 6 ฉบับที่ร่ายยาวอย่างต่อเนื่องยังคงมีอยู่หรือไม่
ตอบได้เลยว่ากังขา ไม่เพียงแต่น่ากังขาในความจริงใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หากเป็นความ
จริงใจของบริวารที่รายเรียงอยู่โดยรอบ
ต้องการ “ก้าวข้าม” อย่างจริงใจ หรือทำเล่นๆ ให้เห็นขำ