จุฬาฯ-ทภ.1 ซ้อมรับมือเหตุวิกฤติกราดยิง “หนี- ซ่อน – สู้" ติดองค์ความรู้ "นิสิต-นักศึกษา"

Home » จุฬาฯ-ทภ.1 ซ้อมรับมือเหตุวิกฤติกราดยิง “หนี- ซ่อน – สู้" ติดองค์ความรู้ "นิสิต-นักศึกษา"


จุฬาฯ-ทภ.1 ซ้อมรับมือเหตุวิกฤติกราดยิง “หนี- ซ่อน – สู้" ติดองค์ความรู้ "นิสิต-นักศึกษา"

จุฬาฯ-ทภ.1 ซ้อมรับมือเหตุวิกฤติกราดยิง “หนี- ซ่อน – สู้” ติดองค์ความรู้”นิสิต-นักศึกษา” ตระหนัก ตื่นตัว เอาตัวรอด

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 มี.ค.66 ที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์รักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสํานักงานบริหารกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 1, กองทัพน้อยที่ 1 และ กรมการสารวัตรทหารบก จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ Chula Public Safety ในหัวข้อ “หนี(Run) ซ่อน (Hide) สู้(Fight)”

โดยมี ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีกํากับดูแลงานด้านการพัฒนานิสิตและงานด้านการรักษาความปลอดภัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดสิริ แม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.สันติพงษ์ มั่นคงดี เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก ร่วมพิธี

ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า สถานศึกษามีหน้าที่หลักการพัฒนาคน หรือนิสิต นักศึกษา และจุฬาฯ มีแนวคิดนี้อยู่แล้ว ประกอบกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ นอกเหนือกราดยิง ยังอีกหลายรูปแบบที่น่าจะผ่านเข้ามาได้ เช่น คนวิกลจริต สติไม่ดี หรือเหตุการณ์อื่นที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการป้องกันเมื่อกลุ่มคนไม่พึงประสงค์เข้ามาแล้ว ลำบาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการติดความรู้ จึงได้รับความกรุณาจากกองทัพภาคที่ 1 กรมการสารวัตรทหาร ส่งวิทยากรมาอบรม เน้น การหนี ซ่อน ไว้ก่อน ส่วนสู้คงใช้เหตุจำเป็นจริงๆ ซึ่งอยากให้นิสิต นักศึกษา มีความรู้ในเบื้องต้น นอกเหนืออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว สามารถเป็นองค์ความรู้ติดตัวเมื่อจบการศึกษาไปแล้วได้

โดยมีวิทยากรจากโรงเรียนทหารสารวัตร กรมการสารวัตรทหารบก และกองพันเสนารักษ์ ที่ 1 กองทัพภาคที่ 1 ดําเนินการอบรมบรรยายให้ความรู้และบรรยายเชิงปฏิบัติการ

สำหรับการอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตจุฬาฯ มีความรู้และตระหนักถึงภัยอันตราย ตลอดจนทราบหลักการปฏิบัติตัวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงขั้นวิกฤต (สถานการณ์เหตุกราดยิง)

ซึ่งการอบรมบรรยายให้ความรู้และบรรยายเชิงปฏิบัติการ แบ่งเป็นการบรรยาย 2 ชม. และ ปฏิบัติ 2 ชม. โดยมีการกําหนดเนื้อหา สื่อการสอนและกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนก (panic) หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลกระทบรุนแรงเกินจําเป็นต่อสภาพจิตใจ (trauma) ของผู้เข้ารับ
การอบรม โดยมีหัวข้อในการอบรม ดังนี้

1. ลักษณะของเหตุการณ์ลักษณะของผู้ก่อเหตุ ปัจจัยรากเหง้าของปัญหา แนวโน้มและโอกาสในการเกิดเหตุ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ในเรื่องลักษณะเฉพาะเชิงทฤษฎี และ ความตระหนักถึงอันตรายของเหตุกราดยิง โดยทีมวิทยากร จากโรงเรียนทหารสารวัตร กรมการสารวัตรทหารบก

2. หลักการและวิธีการปฏิบัติตัว เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหตุกราดยิง (หนี ซ่อน สู้) เพื่อให้ความรู้ ในเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ หลักการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และอาวุธที่คนร้าย สามารถใช้ก่อเหตุได้ ซึ่งมีหลากหลายชนิด นอกจากอาวุธปืน รวมทั้งการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จําลอง เมื่อมี ผู้ถืออาวุธปืนเข้ามาในพื้นที่และคาดว่าจะก่อเหตุ โดยฝึกปฏิบัติการซ่อน ฝึกปฏิบัติการแจ้งเหตุ รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่จําเป็นต่อเจ้าหน้าที่ โดยทีมวิทยากรจาก โรงเรียนทหารสารวัตร กรมการสารวัตรทหารบก

3. การบรรยาย สาธิต และทดลองปฏิบัติในการใช้สายรัดห้ามเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการห้ามเลือดอย่างถูกต้อง โดยทีมวิทยากรจากกองพันเสนารักษ์ที่ 1 กองทัพภาคที่ 1 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรแห่งจุฬาฯ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ