เปิดผลวิจัย พบกลุ่ม 40-59 ปี เสี่ยงยากจนสูง ไม่ออมเงิน ชี้เบี้ยคนชราต้อง 3,000 บาทต่อเดือน ช่วยหลุดพ้น หนุนสร้างระบบบำนาญชาติ
วันที่ 25 มี.ค. 2566 ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานเสวนา “ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติเป็น “ความคุ้มครองทางสังคม” ประเภทหนึ่ง ตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ ความคุ้มครองทางสังคม คือระบบหรือมาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเคราะห์ร้าย ช่วยคุ้มครองไม่ให้กลายเป็นคนยากจน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ
ด้าน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. กล่าวว่า จากการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” พบว่า ประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี ซึ่งเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ กลุ่มสึนามิประชากร มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง ส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อว่า ระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน แม้จะเพิ่มเบี้ยแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน งบประมาณก็ยังน้อยกว่าระบบบำนาญภาครัฐในระยะยาว การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน
โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich)ข้อเสนอ คือ 1.ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นวาระแห่งชาติ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน 2.แก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ 3.สร้างระบบฐานข้อมูล กำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน
4.ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ขอรับบำนาญช้าลงและส่งเสริมการออม และ 5.ทบทวนนิยามการเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ขยายเวลา “เกษียณอายุ” ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมหรือพรรคการเมือง ต่างเห็นร่วมกันแล้วว่า จำเป็นต้องมีการสร้างระบบบำนาญให้กับผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคืองบประมาณอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ส่วนตัวเสนอให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เอาส่วนต่างที่เก็บเพิ่ม 3% หรือราว 2 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) คือ เงินออมสำหรับบำนาญให้ประชาชนทุกคนยามชราภาพนายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือต้องสร้างให้เกิดระบบที่ยั่งยืน ต้องมุ่งเป้าทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า เมื่อเป็นผู้สูงอายุจะมีสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยรัฐบาลในอนาคตจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างระบบสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การสงเคราะห์เหมือนที่ผ่านมา
ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่า หากจ่ายในอัตรา 3,000 บาทจริง จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในเส้นความยากจนจากเดิม 6% จะสามารถลดลงเหลือ 1% แต่ถ้าอัตรา 2,000 บาท จะเหลืออยู่ที่ 2% จำนวนเปอร์เซ็นต์ความยากจนที่เหลืออยู่นั้นเกิดจากหนี้สินจากอาชีพการงาน และภาระค่าใช้จ่ายจากความเจ็บป่วย เช่น ภาวะติดบ้านติดเตียง