กรมอุทยานฯ วุ่นหาเงิน 3.4 ล้านช่วยคดี 17 จนท.ป่าไม้ หลังจับเอกชนรุกสวนป่าฯ ลำตะคอง แต่ ตร.สั่งไม่ฟ้องอ่วมเจอฟ้องกลับ มึนตีความเงินรายได้อุทยานฯ ใช้ไม่ได้
วันที่ 23 มี.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 7 นครราชสีมา ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก คณะเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ได้เข้าตรวจยึดจับกุมบุคคลพร้อมของกลาง และแจ้งความต่อ สภ.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ฐานบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่แปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง ปี พ.ศ. 2519 ท้องที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564
ทั้งนี้ต่อมา สภ.หมูสี ขอให้คืนของกลางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไว้ และพนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสภ.หมูสี ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 25 นาย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565
ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าว มีปัญหาการนำพื้นที่สวนป่าฯ ไปออกเป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ น.ค.3 ของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง โดยกรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการให้กรรมสิทธิ์ และห้ามซื้อขาย และกรมป่าไม้ได้เข้าไปดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ครอบครองที่ดินได้นำเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. มาแสดง จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว
โดยหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคองชี้แจง ว่า ที่ดินที่เกิดข้อพิพาทอยู่ในแปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคองปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเมื่อปี 2533 จ.นครราชสีมา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวเขตป่าอนุรักษ์บริเวณพื้นที่ป่าติดแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ตั้งแต่เขต อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มาทางด้านทิศตะวันออกจนถึง ถ.ธนรัชต์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยให้พิจารณากำหนดเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยยึดสภาพความสมบูรณ์ของป่า ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ผนวกพื้นที่สวนป่าหน่วยปรับปรุงน้ำมูล หน่วยที่ 1 ลำตะคอง (ชื่อเดิม) ปี พ.ศ.2511 ถึง 2521 เป็นป่าอนุรักษ์ทั้งหมด อีกทั้งอุทยานฯ เขาใหญ่ได้สร้างถนนเป็นแนวเขตผนวกเตรียมเป็นอุทยานฯ ไว้อย่างชัดเจน
โดยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กระทำไปเพื่อป้องกันทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทรัพย์สินของทางราชการ และไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ครอบครองที่ดินแต่อย่างใด จึงขอให้กรมอุทยานฯ พิจารณามอบหมายให้นิติกร กองนิติการ ไปช่วยให้คำปรึกษาแก้ต่างคดี และขอให้จัดสรรเงินสวัสดิการ ตามมาตรา 32 (3) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 เพื่อมาใช้เป็นหลักประกันตัวเจ้าหน้าที่รายละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 3.4 ล้านบาท จำนวน 17 นาย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอัยการว่าจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากอัยการสั่งฟ้องคดี จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 17 นาย ไม่มีสิทธิขอให้ออกหนังสือรับรองขอให้ปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา พ.ศ.2528 และไม่สามารถขอให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้ได้ ตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 และไม่สามารถทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง ในการขอใช้เงินงบประมาณของทางราชการในการจัดหาทนายความต่อสู้คดี ได้
ขณะที่กรมอุทยานฯ โดยนางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ รักษาการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ในขณะนั้นได้มีหนังสือตอบกลับไปยัง สบอ. 7 นครราชสีมา และ สบอ. 1 ปราจีนบุรี ใจความระบุว่า ได้ส่งเรื่องให้สำนักอุทยานฯ พิจารณาเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือในการต่อสู้คดีตามมาตาม 72 (3) พ.ร.บ.อุทยานฯ 62 แล้ว แต่ทางสำนักงานอุทยานฯ พิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดนอกเขตอุทยานฯ จึงไม่สามารถนำเงินรายได้อุทยานฯมาใช้ในการนี้ได้ อย่างไรก็ตามได้มีหนังสือถึงมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีกทางหนึ่งด้วยแล้ว
สำหรับกรณีที่ขอให้กรมอุทยานฯ พิจารณามอบหมายให้นิติกร กองนิติการ ไปช่วยให้คำปรึกษาในการแก้ต่างคดีนั้น เห็นว่า สบอ. 7 และสบอ. 1 มีกลุ่มงานกฎหมาย มีนิติกรสังกัดอยู่แล้ว และทราบข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงให้ สบอ. 7 มอบหมายให้นิติกรของสบอ. 7 ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ในการแก้ต่างคดีดังกล่าวด้วย.