กสทช. เผยไม่บีบ กกท. ซื้อ ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ซีเกมส์ เร่งแก้กฏ'มัสต์แฮฟ'

Home » กสทช. เผยไม่บีบ กกท. ซื้อ ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ซีเกมส์ เร่งแก้กฏ'มัสต์แฮฟ'


กสทช. เผยไม่บีบ กกท. ซื้อ ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ซีเกมส์ เร่งแก้กฏ'มัสต์แฮฟ'

ความคืบหน้าเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 5-17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กำลังเตรียมเจรจากับเจ้าภาพกัมพูชา ให้ลดค่าลิขสิขสิทธิ์ที่ตั้งไว้สูงถึง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแข่งขันที่อยู่ในกฎ”มัสต์แฮฟ” (Must Have) ของ กสทช.

ล่าสุดนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กรณีของการพิจารณาประเด็นปัญญาของกฏ “มัสต์แฮฟ” ที่ขัดแย้งกับธุรกิจกีฬาโลกนั้น บอร์ด กสทช. มีความเห็นให้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดโดยมี น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่รอฟังข้อสรุปก่อนจะพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ด้าน น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องที่ กกท. ระบุว่า กสทช. บีบบังคับให้ กกท. ดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันเพราะก่อนหน้านี้ กสทช. เชิญ กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มาหารือและชี้แจงทำความเข้าใจกฏ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า สำหรับการบังคับใช้ของกฏ “มัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” จะเริ่มต้นก็ต่อลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่ตราบใดที่ไม่มีการซื้อเข้ามา กฏดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับใช้ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อถือว่า ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมตามช่องทางต่างๆ ที่ระบุไว้แบบไม่เสียเงินค่ารับชม อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าทาง กกท. จะดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของ กกท. ซึ่งแจ้งไว้คร่าวๆ ว่า กำลังหางบประมาณ และจะขอจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

น.ส.มณีรัตน์ กล่าวว่า การพิจารณาทบทวนยกเลิก หรือไม่ยกเลิกกฏ “มัสต์แฮฟ” นั้น เข้าใจดีว่าเป็นประเด็นที่สังคมจับตามอง เมื่อคณะทำงานศึกษาข้อมูลได้สรุปเสร็จจะต้องทำเสนอเข้าที่ประชุมอนุกรรมการโทรทัศน์เพื่อพิจารณา, ดำเนินการรับฟังความเห็นสาธารณะ ใช้เวลา 45 วัน จากนั้นจะเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อจัดทำร่างและเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อลงมติ ก่อนจะลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ