บทเรียนสารวัตรคลั่ง สช.เผยคนเข้าใจ “สิทธิการตาย” มากขึ้น หลังประกาศใช้ 16 ปี มีผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ไม่ยื้อชีวิตกว่า 1 หมื่นฉบับ ชี้เป็นการเคารพสิทธิ
วันที่ 16 มี.ค.2566 นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงกรณีข่าวสารวัตรคลั่งที่บาดเจ็บสาหัสและอาการหนัก ซึ่งญาติตัดสินใจไม่ยื้อชีวิตทรมาน ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องของสิทธิการตาย ว่า หลังจากมีการใช้มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ผ่านมา 16 ปีแล้ว ถือว่าประชาชนและญาติมีความเข้าใจเรื่องสิทธิการตายมากขึ้น
โดยมาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง ทำให้ผู้ป่วยในปัจจุบันนิยมเขียนและสั่งญาติไว้ก่อนเข้ารับการรักษาเมื่อมีสติครบถ้วนว่า อยากให้รูปแบบและแนวทางการรักษาของตนเป็นอย่างไร เพื่อสถานพยาบาลจะได้ทำตามความประสงค์ ซึ่งมีการเขียนในรูปแบบของหนังสือและลายลักษณ์อักษรมากกว่า 1 หมื่นฉบับ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การออกแบบจุดหมายปลายทางของชีวิตไว้ล่วงหน้าว่า ไม่ประสงค์รับบริการการรักษาแบบใดมีประโยชน์อย่างมาก คือ 1.เป็นการเคารพสิทธิของตัวบุคคล และทำให้การตายสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.ผู้เกี่ยวข้อง ญาติ ได้ตามทำความต้องการของผู้ตาย และ 3.ผู้ให้การรักษาได้ทำตามความประสงค์ ลดความขัดแย้งกับญาติ และการฟ้องร้อง
ที่ผ่านมาหลังจากมีความเข้าใจเรื่องสิทธิการตายมากขึ้น ทำให้ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ลดลง แต่ไม่สามารถระบุถึงจำนวนได้ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บข้อมูล ส่วนกรณีผู้ตายไม่ได้ทำหนังสือหรือแจ้งความประสงค์ไว้ เป็นหน้าที่ของแพทย์ต้องทำความเข้าใจกับญาติ บอกกล่าวให้ญาติเข้าใจถึงสภาวะปัจจุบันของผู้ป่วย ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ โอกาสการรอดชีวิตมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และไม่เป็นการยื้อทรมาน
แต่อุปสรรคสำคัญคือ เรื่องของความเชื่อ เนื่องจากบางคนกลัวว่าจะเป็นลางหรือเป็นการแช่งตัวเองและญาติ ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจและขจัดความเชื่อเหล่านี้ให้หมดไป