“รัฐบาล”เห็นชอบ “โครงการและกิจกรรมงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกฯ 26 มิถุนายน 2566
15 มี.ค. 66 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาโครงการและกิจกรรมเฉลิมฉลองพระชนมายุ 8 รอบ
โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการจัดโครงการและกิจกรรมประกอบด้วย 1. การน้อมนำพระดำริที่ทรงพระกรุณาโปรดฯให้มุ่งเน้นโครงการ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสาธารณชนในวงกว้าง ที่จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาจิตใจและคุณธรรม เพื่อเสริมสร้างสังคมวิถีพุทธ เพื่อความสามัคคีและสันติสุขของคนในชาติ
2. คำนึงถึงความยั่งยืน และผลกระทบในระยะยาว โดยควรเป็นโครงการ กิจกรรมที่จะเป็นต้นแบบ สามารถต่อยอดและขยายผล ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน ตลอดจนการสร้างค่านิยมร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศ
และ 3. ควรให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน การศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและการบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อให้เป็นโครงการ กิจกรรมที่ทันสมัย มีความเป็นสากล และสอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน
นอกจากนั้นเห็นชอบโครงการ กิจกรรม ดังนี้ 1.โครงการการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณกระทรวงมหาดไทย เดิม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิประวัติ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยจะเป็นการพัฒนาพื้นที่สำคัญอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์และของประเทศชาติ การกำหนดรูปแบบและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และการปรับปรุงภูมิทัศน์
รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยสืบไป
1. โครงการสถาบันกรรมฐานศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) และทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการตามพระดำริด้านการศึกษา
ในส่วนสถาบันกรรมฐานศึกษาจะเป็นสถานปฏิบัติธรรมด้านวิปัสสนาธุระ สําหรับพระภิกษุและสามเณร ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่และการส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์
ส่วนทุนการศึกษานั้น จะเป็นการสนับสนุนให้พระภิกษุและสามเณรไปศึกษาต่อในต่างประเทศในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อสร้างศาสนทายาทที่มีความรู้ความสามารถสามารถรับภารกิจในการสืบทอดพระพุทธศาสนาในอนาคตได้เป็นอย่างดี
2. โครงการพัฒนาวัดต้นแบบ เช่น วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งได้ดำเนินโครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ น้อมนำหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ แหล่งน้ำ ป่าไม้ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน ให้วัดอยู่คู่กับธรรมชาติ ตามแนวทาง”Green Buddhism for Sustainable Development” มีการจัดกิจกรรมปลูกป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกัน
3. โครงการธรรมะ สานใจ สูงวัยพลังบวก ภายใต้แนวคิด “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ในวัดนำร่องและศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4.โครงการจัดทำแสตมป์และเหรียญที่ระลึก งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
5. สำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการศึกษานั้น รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ
โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการในด้านนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และคำนึงถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ การประยุกต์ใช้หลักธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการเรียนรู้ที่เปิดกว้างตลอดชีวิต
ในโอกาสงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566 บุคคลหรือหน่วยงานที่มีความประสงค์จะจัดทำโครงการ กิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติ และขอใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อประดับหรือประดิษฐานบนสิ่งของใดๆ
หากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ขอให้แจ้งความประสงค์ไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ให้แจ้งความประสงค์ไปยังสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม