ทสท. หนุนเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ต้องมาคุยกัน พปชร. เสนอเลือกผู้ว่าฯ แค่บางจังหวัด

Home » ทสท. หนุนเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ต้องมาคุยกัน พปชร. เสนอเลือกผู้ว่าฯ แค่บางจังหวัด


ทสท. หนุนเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ต้องมาคุยกัน พปชร. เสนอเลือกผู้ว่าฯ แค่บางจังหวัด

“ทสท.” หนุนเลือกตั้งท้องถิ่น ดันประชาชนมีส่วนร่วมบริหารชุมชน “พปชร.” ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นโมเดลสำคัญ แต่เสนอทำแค่บางจังหวัด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เปิด 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์ ซึ่งวันนี้เป็นเวทีแรก ประชันนโยบาย “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดยในรอบแรก ตอบคำถามจับคู่ดีเบต น.ต.ศิธา ตอบคำถาม คิดอย่างไรที่มีทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมี อบต. เทศบาล และอบจ. จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งโดยตรง ว่า แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจ การให้แต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่น ได้รู้จักการปกครองและพัฒนาตนเอง

รูปแบบของประเทศไทยที่ผ่านมา เรามีการจัดกระทรวง ทบวง กรม และงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง ปัจจุบันมีการพยายามที่จะกระจายงบลงไปยังท้องถิ่น รวมถึงการเลือกตัวบุคคลเข้ามาบริหารท้องถิ่น ฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยแบบเดิมๆ กลับมาเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

ตนมองว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง คือ เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปรู้ในรายละเอียดได้ เราจะกำหนดงบประมาณของเราเอง ซึ่งพี่น้องในท้องถิ่นจะทราบว่า จะเอางบไปทำอะไร แต่รูปแบบของเมืองไทยปัจจุบัน เราอยากจะสร้างอะไร เราทำโดยไม่ได้ไปสอบถามหรือวิเคราะห์อย่างจริงจัง สูญเสียงบไปอาจจะเกินครึ่งของที่ควรจะเป็น เราจะมาเจอกันตรงกลางอย่างไร เพื่อจะได้คนที่เข้าใจในระบบราชการ รู้ว่าจะพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร สามารถนำเสนอนโยบาย และการใช้งบประมาณในภาคประชาชนได้

เรื่องการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนเลือก แต่เมื่อเลือกแล้ว เขาสามารถใช้อำนาจในการดูแลประชาชน และบริหารจัดการงบได้อย่างไรนั้น ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการบริหารงบยังรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า เรื่องผู้ว่าราชการจังหวัด หลายคนบอกว่าควรจะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ขณะนี้ในการปกครองระดับจังหวัด เรามีนายกอบจ. ซึ่งมาจากประชาชนเลือกตั้ง มีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยส่งเข้ามา ซึ่งทั้งสองส่วนต้องมาคุยกันว่า เราสมดุลกันดีหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการใช้งบซ้ำซ้อน และเป็นการเลือกตั้งซ้อนเลือกตั้ง

ถ้าจะเลือกตั้งอย่างเดียว ต้องเลือกไปเลยไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือจะเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. แล้วใช้คำว่าผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ โดยผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ที่สำคัญคืองบจากส่วนกลาง ซึ่งคนไทยมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับการบริหารงานจากส่วนกลาง

“พรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น จนถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องมาคุยกันว่า เราจะได้ตัวแทนที่เหมาะสม และมีคุณภาพกับประชาชนหรือไม่ ตอนนี้ระบบการเลือกตั้งของไทยไม่เหมือนต่างชาติ ประเทศไทยขึ้นอยู่กับ 1.กระแส คนนิยมในพรรคการเมืองไหน นโยบายไหน 2.กระสุน ใครนำเงินมาจ่ายมากก็ได้ และ 3.บ้านใหญ่ ใครมีคอนเนกชั่นทางหัวคะแนนก็เอากระสุนไปใส่ และลงไปตามช่องทาง เขาก็ชนะเลือกตั้งเหมือนกัน

ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาว่า ถ้าเราเลือกตั้งสมบูรณ์แบบแล้วได้คนที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือได้คนที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติจริงๆ เป็นตัวแทนประชาชนได้จริงๆ หรือว่าเราได้คนที่เขาจัดตั้งหัวคะแนนและมีเงินมาสนับสนุน นักการเมืองที่ได้มาไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้” น.ต.ศิธา กล่าว

จากนั้น น.ต.ศิธา เลือกนายสนธิรัตน์ ตอบคำถามเดียวกันต่อ โดยนายสนธิรัตน์ ตอบว่า หนึ่งในหัวใจของความมั่นคงและความเจริญของประชาชน คือการกระจายอำนาจ แต่ดูเหมือนกระบวนการนี้ไปไม่สุด ในแง่ของการบริหารจัดการ ต้องยอมรับว่าอำนาจส่วนกลางมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ คนที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและเข้าใจปัญหาพื้นที่มากที่สุด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วย เรื่องการกระจายอำนาจ เพราะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงขึ้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจ หลักการรวมศูนย์จะต้องถูกลดบทบาทลง หัวใจสำคัญเรื่องที่มาของอำนาจ คือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล หากปล่อยให้การเมืองเข้าไปครอบงำการเลือกตั้งเหล่านี้ ก็จะทำให้การใช้อำนาจบิดเบี้ยว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อมั่นว่าหากให้เกิดการพัฒนาโดยให้อำนาจเขาเต็มที่ เทศบาลหรือท้องถิ่นใดก็ตามที่บริหารได้ดี จะเกิดการเปรียบเทียบ และเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และตัดสินใจ ว่าเมื่อเขาเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องเลือกคนที่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่ทำให้การกระจายงบจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ถูกแปรรูปให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังติดระบบงบของประเทศ ระหว่างงบท้องถิ่นกับส่วนกลาง แม้งบบางอย่างเป็นท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็ยังติดเรื่องอำนาจในการใช้ที่ต้องขออนุมัติส่วนกลาง

“ส่วนประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นโมเดลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่ไม่ได้เลือกตั้งทั้งประเทศ เราน่าจะส่งเสริมให้จังหวัดใดก็ตามที่มีขนาดเศรษฐกิจสำคัญ และมีรูปแบบที่พร้อมต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่น จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ควรจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เขามีโอกาสดูแล และเปลี่ยนแปลงจังหวัดของเขาเอง” นายสนธิรัตน์ กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ