หมอปลา ยอมขอขมา พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ต่อหน้าสื่อ 46 สำนัก หลังถูกฟ้องหมิ่นประมาท ปมอมเงินสร้างวัดในพื้นที่ จ.นครพนม
วันที่ 10 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ จ.นครพนม จากกรณี พระเทพวรมนุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มอบหมายให้ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ แม่ทัพทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วย นายเอื้อ มูลสิงห์ ทนายกองทัพธรรม จ.นครพนม ในฐานะไวยาวัจกร วัดพระธาตุพนม แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สภ.ธาตุพนม เมื่อเดือน ก.ค.2565 ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา พร้อมพวกคือ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ และ น.ส.วรรณวิสา ประทุมวัน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
สืบเนื่องจาก นายจีรพันธ์ พร้อมพวกได้ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ โดยได้เข้าร้องเรียนต่อ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า พระเทพวรมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร ในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ค้างค่าจ้างก่อสร้างถาวรวัตถุของวัดมรุกขนคร ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อปี 2536
ล่าสุดทาง ทนายอนันต์ชัย พร้อมนายเอื้อ มูลสิงห์ ทนายกองทัพธรรม จ.นครพนม และไวยาวัจกรวัดพระธาตุพนม ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเสนออัยการฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิดอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา รวมถึงเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1102/2565 ศาลจังหวัดนครพนม ข้อหาฐานความผิด ละเมิด ให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษา และคำขอโทษ ในสื่อทุกแขนง จำนวน 46 สื่อ เป็นเวลา 7 วัน
กระทั่งมีการนัดสืบพยาน ที่ศาลจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566 โดยนายจีรพันธ์ได้มอบหมายให้ทนายมาเจรจาไกล่เกลี่ย และยอมรับผิด พร้อมขอขมาตามเงื่อนไข ซึ่งได้ทำข้อตกลงยินยอมที่จะมากราบขอขมาพระเทพวรมุนีที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม ต่อหน้าสื่อมวลชน จำนวน 46 สำนัก ในวันที่ 1 พ.ค.2566 พร้อมมีการแถลงต่อศาลจังหวัดนครพนม ตามข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ย หากไม่มาตามนัดจะถูกนำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป
สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากทนายอนันต์ชัย ตรวจสอบเอกสารหลักฐานร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครพนม พบว่าการก่อสร้างพัฒนาวัดมรุกขนคร เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2536 พระเทพวรมุนี ขณะนั้นยังไม่เป็นเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร แต่บุคคลที่ร้องเรียนกล่าวอ้างว่าเข้าไปก่อสร้างเมื่อต้นปี ประมาณเดือน ม.ค.2539
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การดำเนินก่อสร้างไม่เกี่ยวกับพระเทพวรมุนี แต่เป็นข้อตกลงกับบุคคลผู้นำชุมชนหมู่บ้าน คณะกรรมการวัด ถือเป็นคณะบุคคลที่ดูแลการก่อสร้าง พร้อมมีการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากผู้รับจ้าง ทำงานล่าช้า และไม่มีการทำสัญญาจ้างงาน รวมถึงผู้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายใน 2 ปี ถือว่า ขาดสิทธิ์ตามกฎหมาย
โดยการออกมาร้องเรียน เป็นความไม่บริสุทธิ์ใจ มีเจตนาให้พระเทพวรมุนี ที่เป็นที่เคารพของชาวนครพนม มีคุณงามความดี เกิดความเสื่อมเสีย และทำให้วัดเสียหาย จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลดังกล่าว