ชัชชาติ แจงย้ายท่าเรือคลองเตย ไม่ต้องตื่นเต้น เป็นวาระแห่งชาติ ไอเดียมีอยู่แล้ว แค่ไม่มีใครเอามาทำจริงจัง ชี้ไม่ง่าย ใช้เวลา 10 ปี แต่หากไม่เริ่มวันนี้คงยาก
วันที่ 2 มี.ค.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กรณีที่กรุงเทพมหานครเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ถึงแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตยออกจากกรุงเทพฯ ว่า ไม่ต้องตื่นเต้น เพราะการย้ายท่าเรือคลองเตยอยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นไอเดียที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครเอามาทำจริงจัง
ทั้งนี้ตนยอมรับว่า เกินภาระหน้าที่ของ กทม. แต่หากย้ายไปได้ก็จะส่งผลดี เช่น จำนวนเรือ และรถบรรทุกที่น้อยลง พื้นที่มูลค่ากลางเมือง ทั้งนี้คงต้องหารือกับทางเอกชน เบื้องต้นสั่งการให้วัดปริมาณฝุ่นบริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อศึกษาผลกระทบและอาจจะตั้งคณะกรรมการศึกษาในลำดับต่อไป
โดยการย้ายคงไม่ง่าย คงใช้เวลาเป็น 10 ปีแต่หากไม่เริ่มวันนี้คงยาก เราไม่ได้คิดเองเพราะอยู่ในวาระแห่งชาติ มีคนคิดมาแล้ว เราค่อยเอาวาระแห่งชาติมาเป็นประเด็นให้เห็นชัดเจนขึ้น
นายชัชชาติ ยกตัวอย่างการบริหารจัดการของท่าเรือแหลมฉบัง ที่ปรับเป็น Green Port เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรถไฟเชื่อมมาที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ICD) ปัจจุบันมีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าที่แหลมฉบังราว 10 ล้านตู้ อยู่ที่ลาดกระบังเพียง 1 ล้านตู้เท่านั้น
หากฝ่ายรัฐบาลรับข้อเสนอนี้อาจจะต้องพิจารณาผลกระทบอื่น ๆ อย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตามเรื่องการย้ายท่าเรือคลองเตย ผู้สมัครพรรคไปพิจารณาและเสนอให้ประชาชนเลือกก็ดีเหมือนกัน ประชาชนจะได้ตัดสินใจ
นอกจากนี้ไอเดียดังกล่าวต่อเนื่องไปยังแผนการรับมือน้ำทะเลหนุนสูงที่คาดว่าจะเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน เพราะการยกตัวของน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กทม.กำลังศึกษาแนวคิดทำแนวกันน้ำริมอ่าวไทย ซึ่งเป็นการยกถนนของกรมทางหลวงชนบทที่อยู่ริมอ่าวไทยกับถนนสุขุมวิทสายเก่า เชื่อมต่อกันเป็นแบริเออร์กันน้ำ
ส่วนนโยบายที่จะเสนอเพิ่มเติมคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ให้เขตสำรวจและรวบรวมแปลงที่ดิน ที่ทำการเกษตรในเขตเมือง โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เพื่อไม่ให้กฎหมายถูกใช้ผิดไปจากเจตนารมณ์ลดความเหลื่อมล้ำ