ลิทัวเนีย-เยอรมนีเยือนไต้หวัน แฉถูกจีนบีบทุกทางสะบั้นความสัมพันธ์

Home » ลิทัวเนีย-เยอรมนีเยือนไต้หวัน แฉถูกจีนบีบทุกทางสะบั้นความสัมพันธ์


ลิทัวเนีย-เยอรมนีเยือนไต้หวัน แฉถูกจีนบีบทุกทางสะบั้นความสัมพันธ์

ลิทัวเนีย-เยอรมนีเยือนไต้หวัน แฉถูกจีนบีบทุกทางสะบั้นความสัมพันธ์

ลิทัวเนีย-เยอรมนีเยือนไต้หวัน – วันที่ 10 ม.ค. เอพีรายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากลิทัวเนียและเยอรมนีเดินทางเยือนเกาะไต้หวัน พร้อมเปิดเผยว่าถูกทางการจีนใช้มาตรการหลายรูปแบบเพื่อบีบคั้นให้ยุติความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน

ความเคลื่อนไหวข้างต้นเกิดขึ้นท่ามกลางจุดยืนคัดค้านการปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองใดๆ ระหว่างไต้หวันกับชาติอื่น เนื่องจากจีนมองว่าเกาะไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงไม่สามารถมีหน่วยงานรัฐบาลของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งไต้หวันไม่ยอมรับ

นายเลารีนัส คาสซียนัส ประธานคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงของลิทัวเนีย กล่าวว่า ทางการจีนพยายามทำลายความมุ่งมั่นของลิทัวเนีย พยายามคุกคามนักลงทุนที่ต้องการมาลงทุนในไต้หวันด้วยการขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรแต่ก็รอดมาได้

“ตอนนี้เราเข้มแข็งขึ้นกว่าสมัยก่อนและเราสามารถเป็นชาติตัวอย่างให้กับชาติสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรปได้” คาสซียนัส ระบุ

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างคณะสส.จากสภาลิทัวเนียที่มีนายคาสซียนัสเป็นผู้นำ และนางโดวิลี ซาคาลิเยนี รองประธานคณะกรรมธิการมิตรภาพลิทัวเนีย-ไต้หวัน ซึ่งเปรียบเทียบสถานการณ์ภัยคุกคามจากรัสเซียต่อลิทัวเนียกับไต้หวันที่เผชิญหน้ากับจีน

“พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตยในระดับโลก และพยายามให้ประชาคมโลกเลิกสับสนในประเด็นความขัดแย้งลักษณะนี้ว่า หากคุณไม่อยู่ฝ่ายผู้คุกคาม คุณก็ต้องอยู่ฝ่ายผู้ถูกคุกคาม” นางซาคาลิเยนี ระบุ

รายงานระบุว่า ทางการลิทัวเนียสร้างความเดือดดาลให้กับทางการจีนหลังอนุญาตให้ทางการไต้หวันใช้ชื่อ สำนักประสานงาน “ไต้หวัน” (เทียบเท่าสถานเอกอัครราชทูตไต้หวัน) ได้ ขัดแย้งกับหลายประเทศที่เกรงใจทางการจีนและเปลี่ยนไปใช้ “จีน ไทเปย์” แทนไต้หวัน

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทางการจีนตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการขับเอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำกรุงปักกิ่งออกนอกประเทศและประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับลิทัวเนียลง รวมถึงเดินหน้าใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ อาทิ การห้ามนำเข้าสินค้าจากลิทัวเนีย

การตอบโต้ของทางการจีนนำไปสู่การตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันจากทางการลิทัวเนียเช่นกันด้วยการประกาศปิดสถานเอกอัครราชทูตลิทัวเนียที่กรุงปักกิ่งแล้วไปเปิดสำนักงานประสานงานด้านพาณิชย์เพื่อทำการค้ากับทางการไต้หวันเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

ยุทธวิธีดังกล่าวของทางการจีนอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลใดๆ ที่ยอมรับ “สถานะรัฐ” ของไต้หวัน และเคยใช้ได้ผลมาแล้วหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาติในทวีปละตินอเมริกาและแอฟริกา ที่ยอมยุติความสัมพันธ์กับไต้หวันเพื่อหันมามีสัมพันธ์กับทางการจีน

ในจำนวนนี้ รวมถึงทางการสหรัฐอเมริกาที่สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน แต่สหรัฐฯยังคงความสัมพันธ์ด้านการค้าและความมั่นคงไว้กับทางการไต้หวัน เช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไต้หวันต้องมีสำนักประสานงานไว้ (แทนสถานเอกอัครราชทูต)

ส่วนการแสดงออกของคณะจากสภาเยอรมันนั้นอยู่ในระดับน้อยกว่าคณะจากสภาลิทัวเนีย เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีนมากจนเกินไป โดยมีผู้นำคณะเป็นรองหัวหน้าหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมันและประธานคกก.ความมั่นคง คือ นางมารี แอ็กเนส สแตร็ก-ไซม์เมอร์มานน์

นายโยฮันเนส โวเกล รองหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือเอฟดีพี (หนึ่งในวิปรัฐบาล) กล่าวถึงจุดยืนว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องความขัดแย้งกรณีเกาะไต้หวันกับจีนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการตกลงระหว่างกันระหว่างคู่ขัดแย้งเท่านั้น

นายโวเกล กล่าวย้ำว่า ความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งข้างต้นด้วยการบังคับหรือขู่เข็ญด้วยกำลังรบนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ