วันที่ 23 ธ.ค.นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเกี่ยวกับการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมทวิภาคีไทย – เมียนมา ที่กรุงเทพฯ ว่า การหารือครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมในกรอบอาเซียน แต่เป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยสันติวิธีต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ต่อคำถามว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่เป็นการบั่นทอนความพยายามของอาเซียนในการแก้ปัญหาในประเทศเมียนมาหรือ นางกาญจนากล่าวตอบว่า การประชุมนี้เป็นความพยายามที่จะเกื้อหนุน สนับสนุนการทำงานของอาเซียนเพราะที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่อาเซียนไม่ได้มีโอกาสหารือในระดับรัฐมนตรีหรือฟังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเมียนมาโดยตรง และว่า การประชุมนี้ไม่ใช่การประชุมอาเซียน แต่เป็นการหารือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในเมียนมาและอยากจะเห็นทางออก
ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นการกีดกันหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการในอาเซียน ในทางตรงกันข้าม การประชุมนี้จะช่วยให้เกิดความคืบหน้าในกระบวนการหาหนทางออกแก้ไขปัญหา โดยในช่วงเช้าวันนี้ (23 ธ.ค.2565) อธิบดีกรมอาเซียนได้เชิญผู้แทนสถานทูตจากชาติสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทยเข้ารับฟังผลการหารือของเมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.2565) ด้วยแล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการหารือได้แก่ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว นายโด๋ หุ่ง เหวียต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา นายกัน ซอว์ รัฐมนตรีการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา นายโค โค ไหล่ รัฐมนตรีด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมียนมา
การหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปีที่รัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือแบบตัวต่อตัวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ทางการทูตสำหรับการหารืออย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ และให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่เน้นการปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศเพื่อนบ้านภาคพื้นแผ่นดิน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
นางกาญจนาระบุอีกว่า โดยที่การหารือครั้งนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบปลายเปิด จึงไม่มีการกำหนดวาระการประชุมล่วงหน้า และไม่มีเอกสารผลลัพธ์การประชุม บรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยดี สร้างสรรค์ รัฐมนตรีจากไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามได้รับฟังความซับซ้อนของสถานการณ์ มาตรการความพยายามต่างๆที่ฝ่ายเมียนมาพยายามจะแก้ปัญหา
รัฐมนตรีที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รับฟังข้อมูลจากฝ่ายเมียนมา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับหนทางในการหาทางออกเพื่อกลับสู่สภาวะปกติในเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การลดผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนเมียนมา และหนทางอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวอีกว่า ไทยสนับสนุนบทบาทของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องเมียนมา ในการพยายามหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ไทยจะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปีถัดไปเพื่อสานต่อการดำเนินงานของกัมพูชา
ทั้งนี้สมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน และในการประชุมอาเซียนซัมมิตที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ที่ประชุมได้รับประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียนในทางหลักการ ก่อนขั้นตอนดำเนินการตามโรปแม็ปของการเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบต่อไป
…………
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ดอน’ หารือ ‘ฮุนเซน’ ประเด็นเมียนมา-บิ๊กตู่ฝากยินดี ปธ.อาเซียน2022
สื่อญี่ปุ่นยัน! รองนายกฯเดินทางเข้าเมียนมา พบมิน อ่อง ไหล่ ไม่สนอาเซียน