พิชัย หนุน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ระงับขึ้นค่าไฟ หวั่นประชาชน ผู้ประกอบการเดือดร้อน ซัด‘ผู้นำ’หยุดเอื้อนายทุน ทำเศรษฐกิจเสียหาย
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าและสมาคมธนาคารไทย ยื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้า พร้อมขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อชี้แจง โดย กกร.มี 5 ข้อเสนอซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคพท.เห็นด้วยและเป็นเหตุเป็นผลดังนี้
1.การตรึงราคาค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรผลักภาระไปภาคธุรกิจ ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งไม่ยุติธรรม ปัญหาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลในหลายด้าน ทั้งการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย การให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปมากถึงกว่า 50% ทั้งที่ตามหลักการต้องผลิตเกินแค่ 15% เท่านั้น ทำให้ต้องเสียค่าความพร้อมเป็นจำนวนเงินสูงมาก
2.ขยายเงินกู้ให้กับ กฟผ.2 ปี เพื่อให้ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน หยุดการส่งกำไรเข้าคลัง เป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ อีกทั้งมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะมีราคาลดลง หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาสัมปทานในอ่าวไทยได้ อีกทั้งถ้ารัฐบาลจะเจรจาต่อรองจ่ายค่าความพร้อมลดลงสำหรับโรงไฟฟ้า ที่มีกำลังผลิตส่วนเกินและไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่ต้องจ่ายถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท ก็จะลดค่า FT ลงมาได้
3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ขอให้ปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่าย หรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ
4.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก หรือออฟพีคมากขึ้น ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น
5.เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำงานร่วมกันโดยเอกชนจะควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องพลังงาน ไม่ใช่ขึ้นราคาแบบมหาโหดต้นปีอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาท ปลายปีจะพุ่งถึงถึง 5.69 บาท หรือปรับขึ้นถึง 53% ซึ่งภาคธุรกิจคงรับกันไม่ไหว เพราะปรับตัวไม่ทัน
นายพิชัย กล่าวอีกว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรค ยังอยากเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการให้ใบอนุญาตไฟฟ้าจำนวน 5.203 เมกกะวัตต์ไว้ก่อน การให้ใบอนุญาตไฟฟ้าเพิ่มจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นกว่าเดิม นอกจากนี้จากข้อมูลที่ได้รับมีข้อสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ผู้ผลิตรายใหญ่ ล็อกสเปกให้นายทุนบางรายเท่านั้น ประชาชนเดือดร้อนกันมาก แต่มหาเศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทยกลับมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า และใน 10 อับดับมหาเศรษฐีหุ้นของไทย มีมหาเศรษฐีพลังงานถึง 3 คน ชัดเจนว่าต้องเป็นการบริหารด้านพลังงานที่ผิดพลาด ผู้นำน่าจะตามนายทุนพลังงานไม่ทัน และอาจจะตกเป็นเบี้ยล่างของนายทุนพลังงานก็เป็นได้
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำต้องมีความรู้เรื่องพลังงาน จะตามใจนายทุนพลังงานอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมากเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน