เยาราชอาจจะเป็นย่านแรกที่คนมักจะนึกถึงเมื่อพูดถึงชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ แต่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเยาวราชมีชุมชนเก่าแก่ขนาดย่อมชื่อว่า “ตลาดน้อย” ซุกซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากได้เข้าไปสัมผัสแล้วจะพบว่ารวยเสน่ห์ไม่แพ้เยาวราชเลยทีเดียว
“ตลาดน้อย” หรือ “ตะลักเกี้ยะ” เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นตลาดใหม่ที่ขยายพื้นที่มาจากตลาดสำเพ็ง ชาวจีนฮกเกี้ยนหรือจีนแคะเป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากกันในแถบนี้
นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถูกปรับปรุงแปลงโฉมใหม่จนกลายเป็นย่านแห่งความคิดสร้างสรรค์ และการเข้ามาของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ตั้งแต่นั้นมาถนนสายเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ก็แต่งแต้มไปด้วยศิลปะในทุกอณูพื้นที่ มีสตรีทอาร์ตให้เสาะแสวงหาแทบทุกซอย
ในครั้งนี้เราเลือกนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสะพานตากสิน จากนั้นนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาธงสีส้มรับลมชมวิวเพลินๆ จากท่าเรือสาทรไปสู่ท่าเรือสี่พระยา ทริปเดินชมตลาดน้อยในครั้งนี้จะเริ่มต้นที่ “ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้” แหล่งรวมร้านค้าและงานศิลปะริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มักมีนิทรรศการศิลปะเจ๋งๆ มาให้ชมกันอยู่บ่อยๆ อย่างเช่นนิทรรศการงานศิลปะของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตระดับโลก “แอนดี วอร์ฮอล” เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
ก่อนจะเริ่มเดินอย่างจริงจังมาแวะเติมพลังงานกันก่อนที่ “เฟิงจู” ร้านเกี๊ยวซ่าสไตล์จีนที่มาพร้อมบานหน้าต่าง ประตูไม้เก่าๆ และผนังร้านที่ปิดทับไว้ด้วยหนังสือพิมพ์ภาษาจีน เลยได้บรรยากาศราวกับอยู่ริมถนนในประเทศจีน ทั้งๆ ที่จริงแล้วตอนนี้เรานั่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมนูเกี๊ยวซ่าที่ยกให้เป็นเมนูแนะนำคือรสชาติดั้งเดิม รสเห็ด 5 อย่าง และรสหม่าล่ามาในชิ้นพอดีคำ เหยาะซอสนิดเดียวก็กินได้เพลิน
เมื่อรองท้องเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลาบ่ายๆ เมฆครึ้มทำให้อากาศไม่ร้อน เลยเหมาะเดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ จากร้านเกี๊ยวซ่ามาไม่เกิน 2 นาทีจะพบกับวงเวียนหน้า “โบสถ์กาลหว่าร์” โบสถ์คริสต์คาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มาพร้อมกับสถาปัตยกรรมสุดตระการตา แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันก็คือบรรดาร้านค้าแผงลอยรอบวงเวียน หนึ่งในนั้นมีทีเด็ดประจำย่าน นั่นคือ “จุ๊ยก๊วย” หรือขนมถ้วยจีนโบราณ ใช้แป้งข้าวเจ้านึ่ง กินกับด้วยหัวไช้โป๊ผัดกับเห็ด ราดพริกน้ำส้มเพิ่มรสชาติเผ็ดเปรี้ยว เป็นเมนูที่หากินได้ยากแล้วในทุกวันนี้
เดินต่อไปไม่ไกลในซอยวานิช 2 จะพบกับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ที่ควรค่าแก่การมาเยือน เพราะอาคารสถาปัตยกรรมบาโรก-อิตาเลียนสีเหลืองนี้เป็นที่ทำการของธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยชื่อว่า “แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” และเมื่อปี พ.ศ. 2525 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ส่วนด้านในยังเปิดทำการเป็นธนาคารอยู่จวบจนทุกวันนี้
เลี้ยวซ้ายออกจากธนาคารจะพบป้ายบอกทางไปยัง “ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก” ที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินซอกแซกไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวตลาดน้อยอย่างแท้จริง และทันทีที่ก้าวเข้าไปในตรอกขนาดความกว้างประมาณเมตรกว่าๆ นี้ก็ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นด้วยสตรีทอาร์ตริมกำแพงทางด้านซ้ายมือ ส่วนด้านขวามือนั้นเป็นกำแพงที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแกลเลอรีจัดแสดงภาพถ่ายผู้คนและวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาบนถนนเจริญกรุง เมื่อได้ไล่เรียงดูแล้วก็พบว่านอกจากเจริญกรุงจะเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนแล้วยังมีการผสมผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ และอิสลามออกมาได้อย่างกลมกลืนและทรงเสน่ห์
เราสังเกตได้ว่าตลาดน้อยเป็นย่านที่มีร้านซ่อมรถอยู่เต็มไปหมด เกือบครึ่งต่อครึ่งของอาคารบ้านเรือนทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยบรรดาอะไหล่ยวดยานพาหนะหน้าตาประหลาดราวกับอยู่ในภาพยนตร์หุ่นยนต์ และความพิเศษที่เราค้นพบนั้นซุกซ่อนอยู่ในอาคารเก่าหลังหนึ่ง ถัดจากทางเข้าตรอกศาลเจ้าโรงเกือกไปเพียงนิดเดียวเราพบกับภาพวาดบนฝาผนังและตัวหนังสือที่เขียนไว้ว่า “ร้านกาแฟ” แต่เมื่อชะโงกหน้าเข้าไปดู ภาพที่เห็นคือบรรดาอุปกรณ์และอะไหล่รถเรียงรายจนสูงท่วมหัวกับกลิ่นเหม็นหืนของเศษเหล็กและคราบน้ำมัน มีเพียงทางเดินแคบๆ นำไปสู่บันไดไม้เก่าๆ เหยียบแล้วเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด
ในนาทีที่พาตัวเองขึ้นไปเหยียบบนชั้น 2 ก็ต้องร้องโอ้โฮ! ออกมา เพราะบรรยากาศนั้นเปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยระเบียงไม้แสนอบอุ่น มองเห็นลูกแมวตัวน้อย 2-3 ตัววิ่งเล่นผ่านสายตา ที่นี่คือ “Mother Roaster” ร้านกาแฟที่ซุกซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนในชุมชนแห่งนี้ ด้วยความจริงจังเรื่องกาแฟไม่น้อย ในร้านจึงมีตั้งแต่เมนูกาแฟคลาสสิกไปจนถึงกาแฟเย็นผสมน้ำผลไม้ให้ความสดชื่น ที่นี่เราจึงได้ปล่อยใจสบายอารมณ์ นั่งชมบาริสตาค่อยๆ ยืนดริปกาแฟอย่างไม่รีบร้อน
ในเมื่อเข้ามาถึงตรอกศาลเจ้าโรงเกือกทั้งทีจะไม่แวะไปชมศาลเจ้าโรงเกือกคงจะเสียเที่ยวไปหน่อย เพราะสถานที่แห่งนี้สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงพอประมาณได้ว่ามีความเก่าแก่นับร้อยปี เป็นมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมจีนอันทรงคุณค่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หากมาในวันธรรมดาศาลเจ้าแห่งนี้อาจจะเงียบเหงา แต่ได้ยินมาว่าทุกวันนี้บริเวณลานหน้าศาลเจ้ายังเป็นสถานที่จัดตลาดนัดวันหยุดสุดสัปดาห์ “ตลาดตะลักเกี้ยะ” ของเหล่าคนรุ่นใหม่ มีทั้งอาหารชุมชนไปจนถึงกาแฟหอมๆ ให้เดินเล่นท่ามกลางบรรยากาศคึกคักด้วยบทเพลงจากศิลปินเปิดหมวก
หลังจากเดินสำรวจซอกซอยไปเรื่อยๆ เส้นทางเดินแคบๆ ก็พาเรามาพบกับรถเฟียตสีส้มขึ้นสนิมเกรอะกรัง เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของตลาดน้อยที่ไม่ว่าใครมาต้องได้ถ่ายภาพคู่กับรถคันนี้สักครั้ง ความผุพังของมันเข้ากันได้ดีกับพื้นหลังซึ่งเป็นกำแพงอาคารสถาปัตยกรรมจีนโบกปูนที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีบางส่วนหลุดออกจนเห็นเป็นโครงสร้างอิฐสีส้ม เราแอบเห็นงานศิลปะรูปแมวหลากหลายท่าทางเกาะอยู่ทั่วทั้งตัวรถ ดูน่ารักเสียจริง พลางนึกขึ้นได้ว่าตลอดทางที่เดินผ่านมาเราเห็นแมวอยู่เต็มไปหมด จนกลายเป็นอีกดาวเด่นประจำชุมชนตีคู่มากับสตรีทอาร์ตรอบๆ เลยล่ะ
นอกจากศาลเจ้าแล้วรอบๆ ชุมชนยังมีบ้านคนจีนโบราณอีกหลายหลังที่น่าไปเยือน เช่น “บ้านโซวเฮง ไถ่” บ้านชาวจีนที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ตามแบบฉบับเก๋งจีนล้อมรอบลานตรงกลาง แต่ปัจจุบันนี้ลานตรงกลางนั้นกลายเป็นสระว่ายน้ำที่ใช้สำหรับการเรียนดำน้ำลึกโดยเฉพาะ แต่น่าเสียดายที่บ้านหลังนี้ปิดในวันที่เราไปเที่ยวพอดี เลยอดเข้าไปชื่นชมความงดงามของบ้านหลังนี้ “บ้านไทง้วนเองกี่” ก็เป็นบ้านอีกหลังที่เพิ่งบูรณะซ่อมแซมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทริปเดินเท้าในคราวนี้สิ้นสุดที่ “สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” หรือ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย” เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ล่าสุด อดีตโรงกลึงเก่าที่ขณะนี้กลายเป็นอาคารกระจกสะท้อนร่มเงาสีเขียวชอุ่มของไม้ใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ชุมชนเอาไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ให้ชุมชนตลาดน้อยไม่เงียบเหงา
หลังจากที่เดินซอกแซกมาเป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เราค้นพบบ้านเรือนหลังเก่าที่ถูกปิดซ่อมแซม และมีวี่แววว่าจะเปิดเป็นร้านอาหารและคาเฟ่อยู่หลายจุด คาดว่าในอนาคตตลาดน้อยจะมีสีสันมากขึ้นกว่าเดิมอีกอย่างแน่นอน