ซ้ำ ๆ ไม่เคยลืม : ความเสียใจที่สุดในฐานะนายคนของ “เซอร์ อเล็กซ์”

Home » ซ้ำ ๆ ไม่เคยลืม : ความเสียใจที่สุดในฐานะนายคนของ “เซอร์ อเล็กซ์”
ซ้ำ ๆ ไม่เคยลืม : ความเสียใจที่สุดในฐานะนายคนของ “เซอร์ อเล็กซ์”

ในชีวิตการทำงาน ไม่มีใครที่ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ขยัน ทำงานหนัก และมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จขององค์กร

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณสมบัติเหล่านี้ก็อาจจะไม่มากพอในองค์กรที่ต้องการความสำเร็จ ระดับเพอร์เฟกต์ 100% และคำว่าเพอร์เฟกต์นั้น หมายถึงใครสักคนที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ขยัน แต่ผลงานที่ออกมาจะต้องสุดยอดและเป็นภาพจำที่ชัดเจนอีกด้วย

นี่คือเรื่องราวการทำงานในฐานะ “หัวหน้าคน” ของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในสมัยที่เขายังเป็นกุนซือของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คำสั่งของเขาชี้เป็นชี้ตายนักเตะในทีมได้ และไม่มีใครที่สงสัยในสิ่งที่เขาทำ เขาเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวเสมอ

ทว่า อีกมุมของความเด็ดเดี่ยว คือความเสียใจในการทำหน้าที่ “หัวหน้า” ในแบบที่เขายังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ … ติดตามเรื่องราวทั้งหมดที่นี่

ความต่างของผู้จัดการทีมกับเฮดโค้ช 

Head Coach (หัวหน้าผู้ฝึกสอน) กับ Manager (ผู้จัดการทีม) … 2 คำนี้มักจะมีผู้คนเข้าใจผิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในโลกฟุตบอล เพราะหลายคนมักจะเหมารวมและให้ความหมายของทั้งสองคำตรงกัน มันคือคำอธิบายของชายคนหนึ่งที่มีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่วางแผน เลือกนักเตะ ควบคุมการฝึกซ้อม และส่งทีมลงสนาม ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นของ เฮดโค้ช ตำแหน่งที่หลายสโมสรในโลกใช้งานอยู่ ณ เวลานี้ 


Photo : www.dailyecho.co.uk

เมาริซิโอ โปเช็ตติโน “เฮดโค้ช” ที่เคยทำงานกับ ท็อตแนม ฮอทสเปอร์ และปัจจุบันอยู่กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง เล่าถึงบทบาทความแตกต่างของ 2 ตำแหน่งนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะเขาเคยเป็น “ผู้จัดการทีม” มาก่อนสมัยที่อยู่กับ เซาธ์แฮมป์ตัน โดยตัวเขาอธิบายว่า

“ถ้าคุณเป็นผู้จัดการทีม คุณต้องตัดสินใจหลายเรื่องมากมายเกี่ยวกับสโมสร แต่ถ้าคุณเป็นเฮดโค้ช (หน้าที่ของเขาตอนที่อยู่กับ สเปอร์ส) หน้าที่ของคุณคือควบคุมแผนกโค้ชเท่านั้น แผนกของผมมีหน้าที่ฝึกซ้อม ทำให้ทีมเล่นดีขึ้น มีผลการแข่งขันที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง”

“ส่วนตอนอยู่ที่ เซาธ์แฮมป์ตัน มันอีกเรื่อง ผมเป็นผู้จัดการทีม ผมทำหน้าที่มากมายหลายอย่าง ผมสามารถนั่งอยู่บนโต๊ะประชุม เลือกซื้อนักเตะเข้าทีม เลือกเจ้าหน้าที่ที่จะมาดูแลในตำแหน่งและแผนกต่าง ๆ เพื่อทำให้ภาพรวมดีขึ้น” เขาอธิบายให้เห็นภาพของ 2 ตำแหน่งชัดเจนขึ้น  

หน้าที่ของ ผู้จัดการทีม นั้นเป็นที่นิยมมากในอดีต ในสมัยที่ฟุตบอลยังไม่มีตำแหน่งมากมายในระบบบริหาร ดังนั้นที่ใครจะเป็นผู้จัดการทีมได้ คนนั้นจะไม่ใช่แค่คุมทีมเก่งและได้ผลการแข่งขันที่ดีเท่านั้น พวกเขาต้องมีอิทธิพลต่อบอร์ดบริหารของสโมสร สามารถต่อรองได้ ดีลกับนักเตะในทีม และทำหน้าที่หลากหลายอย่างตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำเลยก็ว่าได้ 


Photo : www.sportsmole.co.uk

คน ๆ หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็น “ผู้จัดการทีม” คือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน การเข้ามาของ เฟอร์กี้ กับ ยูไนเต็ด ในปี 1986 จนถึงวันอำลาเมื่อปี 2013 คือปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกรู้จักเขาในนาม “ยอดคนชาวสก็อตช์” เรียกได้ว่าเขาแสดงออกถึงพระเดชและพระคุณออกมาเต็มรูปแบบ โดยในแง่ของการสร้างทีม เขาแท็กทีมคู่กับ เดวิด กิลล์ (รวมถึงก่อนหน้ากับ ปีเตอร์ เคนยอน) ในการผ่าตัดทีมเอานักเตะที่ใช้ไม่ได้ออก และเอานักเตะที่มีสปิริตนักสู้เข้ามาสู่ทีม ขณะที่ในแง่การบริหาร เขาต่อรองกับบอร์ดบริหารจนทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยนแปลงระบบนักเตะเยาวชนใหม่ และมีการจ้างทีมแมวมองให้มากขึ้น จนสามารถค้นหาดาวรุ่งฝีเท้าดีจากทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งทั่วโลก และทำให้พวกเขาได้นักเตะที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สโมสรกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง อาทิ Class of ’92 เป็นต้น 

เฟอร์กี้ มีการวางแผนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว … ระยะสั้นนั้น คือการทำทีมในแต่ฤดูกาล ระยะกลาง คือการเปลี่ยนแปลงและถ่ายเลือดเพื่อความสำเร็จ ส่วนระยะยาว คือเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้นับจากวันเข้ามาคุมทีม ซึ่งทั้ง 3 แผนการ 3 ระยะนี้คือหน้าที่ซึ่ง “ผู้จัดการทีม” อย่าง เฟอร์กี้ ต้อง แสดงผลงานทั้งการวางแผน และการบริหารให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุดนั่นเอง 

รับมือกับคน …

การปกครองผู้ชายอีก 30-40 คนให้เกิดความพอใจและมีเป้าหมายเดียวกัน คืออีกหนึ่งหน้าที่ที่ยากที่สุด และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถควบคุมพวกเขาเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้อาณัติ 


Photo : www.planetfootball.com

เฟอร์กี้ เองใช้ไม้แข็งในแง่การบริหารและรักษาความเป็นผู้นำของทีมมาโดยตลอด กฎของเขา คือกฎที่ทุกคนไม่มีสิทธิ์จะแหก หากใครอยากลองดี คน ๆ นั้น ต้องเป็นผู้แพ้และจากไป เพราะ เฟอร์กี้ สะสมบารมีทีละนิด ๆ จนบอร์ดบริหารสามารถมอบความไว้วางใจ และไม่ขัดข้องในการตัดสินใจของเขา 

 

แม้กระทั่งการรับมือกับสื่อ เฟอร์กี้ ยังมีทั้งลูกล่อลูกชนในการรับมือกับสื่อที่จะมาสาวไส้และเล่นงานลูกทีมของเขาได้ดีอีกด้วย เฟอร์กี้ สามารถดุร้ายและใช้คำพูดที่เสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ และหากไม่มีใครยอมฟังกัน เขายังเด็ดขาดพอที่จะออกกฎการแบนสื่อเจ้านั้น ๆ ไม่ให้เข้าห้องสัมภาษณ์เลยก็ยังมี ซึ่งเรื่องนี้ สื่อเบอร์ใหญ่ของอังกฤษอย่าง BBC โดนมาแล้ว

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเขาต้องการดูแลลูกทีมให้ดีที่สุด ให้นักเตะสามารถโฟกัสกับการทำผลงานในสนามและพัฒนาตัวเองตามแบบที่เขาต้องการ ซึ่งนักเตะคนไหนที่อยู่ภายใต้กฎ ภายใต้ระเบียบที่ เฟอร์กี้ วางไว้ นักเตะคนนั้นก็จะได้รับโอกาสอย่างเหมาะสม ได้รับการผลักดัน จนถึงที่สุด … ซึ่งเรื่องนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวดซึ่ง เฟอร์กี้ ในสถานะผู้นำ ต้องรับมือกับมันเพียงลำพัง 


Photo : www.manchestereveningnews.co.uk

เพราะทีมฟุตบอลไม่ใช่สถานสงเคราะห์ ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งต้องมีเป้าหมายไว้ที่ความสำเร็จในแง่ของผลการแข่งขัน และการจะได้ผลการแข่งขันที่ดี ต้องมีนักเตะที่เก่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเล่นตามแผนและตามแท็คติกที่โค้ชวางเอาไว้ 

ซึ่งนักเตะที่เก่ง บางครั้งก็ไม่ใช่คนคนเดียวกับนักเตะที่ดี และเป็นคนที่เชื่อฟัง เมื่อถึงเวลาใครสักคนที่ไม่ดีพอสำหรับทีมจะต้องถูกคัดทิ้ง … ซึ่งจุดนี้นี่แหละที่ เฟอร์กี้ ยกให้เป็นส่วนที่ยากที่สุดในการทำงานของเขาตลอดอาชีพผู้จัดการทีมโดยแท้จริง

เพื่อความยิ่งใหญ่ ใจต้องแข็ง 

ทุก ๆ ปีหลังจากจบฤดูกาล เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะต้องเรียกประชุมทีมโค้ชเพื่อสรุปผล “แผนงานระยะสั้น” และตั้งเป้าเพื่อไปให้ถึง “แผนการระยะยาว” ซึ่งจุดประสงค์ของการระดมสมองเสนอความคิดครั้งนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ทีมดีขึ้นในปีต่อไป … ทีมเราขาดอะไรไป ? ควรเพิ่มเติมตรงไหน ? และ ส่วนใดควรตัดทิ้ง ? นี่คือช่วงเวลาสรุปผลงานตลอด 1 ปี ที่ไม่สามารถใช้ความปราณีใด ๆ ได้เลย 


Photo : www.90min.com

การสรุปแผนงานนี้ นอกจากจะเป็นการเล็งนักเตะใหม่ที่เข้ามาเสริมแกร่งแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันคือการเอานักเตะเก่าออกจากทีมด้วย และนี่คือตอนที่เรื่องมันยากที่สุด นั่นคือวันที่เขาต้องเดินไปบอกนักเตะเหล่านั้นด้วยตนเองว่า “คุณไม่ได้ไปต่อ” … ไม่ว่าจะนักเตะดาวรุ่งที่พัฒนาการไม่ดีพอสำหรับการขึ้นชุดใหญ่ หรือนักเตะตัวเก๋าที่ใกล้จะหมดอายุการใช้งาน พวกเขาเหล่านี้จะต้องได้รับรู้ความจริงว่า ตนเองจะต้องมองหาเส้นทางเดินใหม่หลังจากนี้ 

เฟอร์กี้ เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าคือสิ่งที่เขารู้สึกเสียใจที่สุดในชีวิต ในการบอกความจริงที่นักเตะเหล่านั้นไม่อยากจะฟัง … โดยเฉพาะนักเตะที่อยู่กับทีมมานาน ทุ่มเทให้ทีม เป็นแบบอย่างให้นักเตะรุ่นน้อง และเป็นลูกน้องที่ดีของเขาเสมอมาจนรักใคร่ชอบพอ ให้ความนับถือกันจริง ๆ ไม่ใช่แค่ในระดับเจ้านาย-ลูกน้องเท่านั้น แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

“ผมยังจำได้ดีว่าในปี 1994 มันเป็นช่วงเวลาที่เหล่าแบ็กโฟร์ของผมเริ่มจะโรยราลงไปพร้อม ๆ กัน นักเตะที่ดีมากของผมอย่าง พอล ปาร์คเกอร์, สตีฟ บรูซ, แกรี่ พัลลิสเตอร์ และ เดนนิส เออร์วิน พวกเขาได้มอบช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมให้กับสโมสรมาตลอดกว่า 10 ปี แต่พอถึงจุดที่ผมเริ่มเห็นปัญหา ผมก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง” เฟอร์กี้ เริ่มเล่าถึงสิ่งที่เขาลำบากใจที่สุดในการทำงาน

เฟอร์กี้ เดินมาตบบ่านักเตะเหล่านี้แบบเรียงคน และแจ้งว่าถึงเวลาต้องไปแล้ว … ปีแล้วปีเล่าที่ต้องบอกคำนี้ (ปาร์คเกอร์ กับ บรูซ ย้ายออกในปี 1996, พัลลิสเตอร์ ปี 1998, เออร์วิน ปี 2002) สีหน้าทุกคนที่ได้ยินคำนั้นจากปากเขาล้วนแสดงถึงความเสียใจและผิดหวังอย่างที่สุด แต่ความจริงในโลกฟุตบอลนั้นโหดร้ายเสมอ หากอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องเดินไปข้างหน้า และบางครั้งก็จำเป็นจะต้องทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง 

“การที่ผมจะต้องไปบอกพวกเขาว่า ‘เฮ้ … นายต้องย้ายทีมแล้วนะ ถึงเวลาแล้ว’ มันช่างยากลำบากจริง ๆ พวกเขาดีต่อผมมาตลอด และทุ่มเท แต่มันถึงเวลาแล้วจริง ๆ” เฟอร์กี้ ว่าเช่นนั้น 


Photo : punditnewswire.blogspot.com

กลุ่มนักเตะเสือเฒ่าที่ใกล้หมดไฟยังไม่เท่าไหร่ นักเตะเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ค้าแข้งมานาน มีความเป็นมืออาชีพสูง เข้าใจและเห็นโลกมาเยอะ แต่มีนักเตะอีกกลุ่มที่น่าลำบากใจยิ่งกว่านั้นเยอะ … นั่นคือนักเตะดาวรุ่งนั่นเอง

เหล่านักเตะอายุ 16-18 ปี คือนักเตะที่เต็มไปด้วยความฝันอย่างขีดสุด พวกเขายังไม่เห็นโลกฟุตบอลของมืออาชีพ ยังไม่เห็นความโหดร้ายของฟุตบอลในแบบทุนนิยมเท่าไรนัก … นักเตะดาวรุ่งเหล่านี้มีความมั่นใจในในตัวเอง วาดภาพเอาไว้หลายอย่าง และการต้องบอกให้พวกเขาว่า “หยุดฝันได้แล้ว” คือสิ่งที่ยากที่สุดในฐานะหัวหน้าคนอย่าง เฟอร์กี้

ขั้นตอนการบอกข่าวร้ายเริ่มจาก โค้ชทีมเยาวชนกับทีมสวัสดิการของสโมสรจะพานักเตะดาวรุ่งเหล่านี้มาที่ห้องทำงานของ เฟอร์กี้ และจากนั้นเขาจะเป็นคนบอกข่าวร้ายด้วยตนเอง … เมื่อสิ้นสุดประโยคบอกเล่าที่ไม่มีช่องไฟให้ปฏิเสธ ความผิดหวังเหมือนชีวิตพังลงทั้งหมดของวัยรุ่นคนหนึ่งก็เกิดขึ้น

“ผมจะต้องบอกกับเหล่าดาวรุ่งที่อายุประมาณ 17-18 ปี ว่า ‘พวกนายไม่ได้ไปต่อนะ พวกนายแจ้งเกิดไม่ได้ และต้องย้ายออกไปแล้ว’ คือมันยากมาก และเสียใจมากที่ต้องทำให้ความหวังของเด็ก ๆ จบลง” เฟอร์กี้ กล่าวถึงประเด็นที่ปวดใจ 

“พวกเขาต้องการเป็นนักเตะของยูไนเต็ด ต้องการลงเล่นต่อหน้าแฟนบอล 75,000 คนในสนาม ต้องการไปเล่นรอบชิงชนะเลิศสักรายการกับทีมที่เวมบลีย์ และเหมือนเราทำให้ความหวังของพวกเขาสูญสลายไป มันเจ็บปวดมากนะ และผมไม่เคยชอบอะไรแบบนี้เลยจริง ๆ”


Photo : www.belfastlive.co.uk

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าความเจ็บปวดเหล่านี้มันดูใจร้าย แต่โลกฟุตบอลอาชีพก็เป็นเช่นนี้เสมอ องค์กรองค์กรหนึ่งต้องวางแผนเพื่อผลประโยชน์สูงสุด เพื่อทำให้สามารถพัฒนาทั้งเรื่องในสนาม รวมถึงเรื่องตัวเลขรายได้ และเพื่อการนั้น ย่อมต้องทำในสิ่งที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าถูกต้องที่สุด 

ในฐานะของคนที่เป็นเจ้านาย การบอกปฏิเสธคือเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แม้จะเจ็บช้ำก็ต้องทำใจ เพื่อผลประโยชน์ของทีมเป็นอันดับ 1 เฟอร์กี้ เรียนรู้ความเจ็บช้ำนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุก ๆ ฤดูกาลที่จบลง เขาต้องรับมือกับความเสียใจโดยไม่ให้ใครเห็นถึงความอ่อนแอ ก่อนจะมูฟออน เพื่อทำในสิ่งที่จำเป็นสุดเพื่อองค์กรที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ดูแลองค์กรนี้ 

นั่นคือการเป็นแชมเปี้ยน และประสบความสำเร็จในแบบที่ใคร ๆ ก็ยากที่จะทำซ้ำได้นั่นเอง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ