กสทช. เตรียมดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กกท. ไม่คืนเงินค่าลิขสิทธิ์ 600 ล้านบาท ระบุ ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แม้หน่วยงานพิพาทจะเป็นภาครัฐด้วยกัน ก็ไม่สามารถละเว้นได้
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า การปฏิเสธไม่คืนเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาทของ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย และเมื่อไม่ยอมคืน สำนักงานกสทช. ก็จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565
“ความจริงไม่อยากให้เรียกว่าการทวงเงิน มติบอร์ดระบุให้กกท.ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ที่ทำไว้กับสำนักงานกสทช. ซึ่งผู้ประกอบการไอพีทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ต้องสามารถถ่ายทอดสดด้วยทุกราย หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องคืนเงินที่เราให้การสนับสนุนไปจำนวน 600 ล้านบาท”
นพ.สรณ กล่าวว่า เอ็มโอยู ที่กกท.เซ็นกับสำนักงานกสทช. กำหนดแบบนั้น เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็จำเป็นต้องทวงเงินคืน เพราะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หากไม่คืนก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะเงินสนับสนุนเป็นเงินในกำกับดูแลของกสทช. มติของบอร์ดเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ว่าหน่วยงานพิพาทจะเป็นภาครัฐด้วยกัน ก็ไม่สามารถละเว้น
“ตอนอนุมัติเงินช่วยเหลือ มองว่าฟุตบอลโลกเป็นการแข่งขันที่คนไทยทุกคนชื่นชอบ เด็ก ๆ อยากรับชม จึงต้องมีใครสักคนยอมควักกระเป๋า เพราะอยากให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกก ไม่ได้คิดว่าที่สุดนอกจากจะต้องควักกระเป๋าจ่ายแล้ว กสทช. ยังถูกโจมตีมากมาย บางส่วนไม่เห็นด้วยให้นำเงินไปสนับสนุน บางส่วนมองว่าเราไม่จัดการอะไร ทำให้ไอพีทีวีไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ ทั้งที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอ็มโอยูที่กกท.ทำกับทรู ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องและศาลทรัพย์สินทางปัญญาสั่งคุ้มครองลิขสิทธิ์ของทรู แต่ในเอ็มโอยู ที่กกท.ทำกับสำนักงานกสทช.ระบุชัดว่าไอพีทีวีต้องรับชมได้”
นพ.สรณ กล่าวอีกว่า ความยุ่งยากสืบเนื่องมาจากประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ซึ่งทำให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ต้องถูกเผยแพร่ในทุกช่องทาง รวมไอพีทีวีด้วย เมื่อซื้อลิขสิทธิ์มาในราคาแพง แต่ต้องนำออกเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์ม ขณะที่โมเดลสร้างรายได้จากโฆษณาทำได้ยากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในยุคปัจจุบัน จึงไม่มีเอกชนรายใดอยากลงทุน กลายเป็นภาระภาครัฐต้องใช้เงินซื้อมา จึงมองว่าประกาศดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข
ขณะที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. กล่าวว่า ตนพร้อม จะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กสทช. ตลอดเวลา ทั้งนี้ มีตัวอย่างเทียบเคียง ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟ ที่จะต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรี โดยในช่วงนั้นกล่องรับสัญญาณเอกชนเจ้าหนึ่ง เป็นผู้รับหน้าที่ในการออกอากาศ และปิดกั้นสัญญาณในส่วนของกล่องรับสัญญาณเจ้าอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีเดียวกัน ในกฎมัสต์แคร์รี่ ก็อยากให้ทาง กสทช. ออกมาชี้แจงว่าเ หตุใดรายการนั้นทำได้ และทำไมรายการนี้ทำไม่ได้