สมาคมจักรยาน เดินหน้าพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้แก่นักกีฬาจักรยานด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ในการนำเอาชีวกลศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกายนักกีฬา
สมาคมจักรยาน โดย “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกเผยว่า จากการที่สมาคมร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาพัฒนานักกีฬาจักรยานไทย
ล่าสุด รศ.ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ผอ.โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญ ได้เข้ามาพบกับตนเองเพื่อหารือถึงดังกล่าว โดยมีร.ต.อ.อดิศักดิ์ วรรณศรี หัวหน้าผู้ฝึกสอนจักรยานประเภทลู่ทีมชาติไทย และคณะร่วมหารือด้วย
- สิงห์บั้งไฟโก้ จัดโครงการพัฒนาลูกหนังเยาวชนพ่วงดึงลูก‘เดอะตุ๊ก’นั่งกุนซือ
พลเอกเดชา กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว รศ.ดร.ศิริรัตน์ได้นำผลการวิเคราะห์การออกตัวของนักกีฬาจักรยานประเภทลู่ ที่ได้บันทึกภาพจากจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งทางคณะผู้เชี่ยวชาญจัดทำการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกายนักกีฬาในการออกสตาร์ต นำมาเปรียบเทียบกับอัตราความเร่ง ความเร็วสูงสุด ความเร็วเฉลี่ย เพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนการการเคลื่อนไหวของร่างกายมีส่วนสำคัญในการสร้างความเร็วของนักกีฬาจักรยาน โดยเฉพาะในประเภทลู่ระยะสั้น
ขณะเดียวกันทางสต๊าฟโค้ชได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติของกีฬาจักรยาน ทั้งการใช้ร่างกายแต่ละส่วนในการแข่งขัน และเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนสำคัญอื่น เพื่อให้ รศ.ดร.ศิริรัตน์และคณะ นำไปเตรียมการบันทึกข้อมูลเพื่อที่จะเริ่มนำกระบวนการวิเคราะห์การเคลื่อนที่มาตรวจวัด และวิเคราะห์นักกีฬาไทยเป็นรายบุคคลต่อไป
นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญชีวกลศาสตร์จะนำเครื่องมือมาบันทึกภาพนักกีฬาไทย ที่ทางคณะผู้ฝึกสอนจะคัดเลือกนักกีฬาจักรยานที่เป็นเป้าหมาย โดยเริ่มรายการแรกคือจักรยานประเภทลู่กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ระหว่าง 25 มี.ค. – 3 เม.ย.
ต่อด้วยจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 ระหว่าง 21-23 เม.ย.66 ซึ่งนักกีฬาเป้าหมายจะมาจากทั้งนักกีฬาจากจังหวัดภูมิภาค และศูนย์ฝึกกีฬาจักรยานต่าง ๆ ที่สมาคมจัดตั้งขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ
“กระบวนการในความร่วมมือระหว่าง รศ.ดร.ศิริรัตน์ และคณะ กับสมาคมเป็นการนำเอาชีวกลศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬานำมาประยุกต์ใช้กับกีฬาจักรยานเพื่อปรับปรุงระบบการเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด”
“ขณะเดียวกัน ข้อมูลและการวิเคราะห์ต่าง ๆ ทั้งหมด จะนำมาประกอบกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดกล้ามเนื้อ การเจาะเลือดวิเคราะห์ระดับแลคเตท เป็นต้น ที่ทางสมาคมได้จากการสนับสนุนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.เชียงใหม่ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยในทุกระดับ ทุกรุ่นอายุอย่างถูกต้อง”
ทางด้าน รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า กระบวนการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว มีจุดประสงค์เพื่อให้นักกีฬาใช้กล้ามเนื้อ และร่างกายในส่วนที่ต้องการออกกำลังเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในการเล่นกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ โดยเฉพาะชนิดกีฬาที่อาศัยการจับเวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการแข่งขัน
แม้ว่าในการพัฒนาดังกล่าว จะไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการพัฒนานักกีฬาระยะยาว ซึ่งนอกเหนือจากที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะสามารถสร้างนักกีฬารุ่นใหม่อย่างถูกต้องและยั่งยืนแล้ว กระบวนการชีวกลศาสตร์ที่ถูกต้อง ยังจะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อผิด ๆ ได้เป็นอย่างดี