เครือข่ายคืนชายหาด บุกปักหลักกระทรวงทรัพย์ฯ จี้แก้ปัญหา กำแพงกันคลื่น

Home » เครือข่ายคืนชายหาด บุกปักหลักกระทรวงทรัพย์ฯ จี้แก้ปัญหา กำแพงกันคลื่น


เครือข่ายคืนชายหาด บุกปักหลักกระทรวงทรัพย์ฯ จี้แก้ปัญหา กำแพงกันคลื่น

Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด บุกปักหลักกระทรวงทรัพย์ฯ จี้เร่งแก้ปัญหา กำแพงกันคลื่น ยกเลิกมติครม. กรณีให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ต้องผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมให้ฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากโครงการกำแพงกันคลื่น

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. 2565 ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชาดหาด 94 องค์กร เดินทางมาปักหลักทวงคืนชายหาด โดยนายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life ระบุว่า เป็นเวลา 9 ปี หลังจากกำเเพงกันคลื่นถูกถอดออกจากอีไอเอ เเละเกือบจะ 4 ปีเต็มที่นายวราวุธ ศิลปอาชา ดำรงตำเเหน่ง รมว.ทส. รับรู้ปัญหาของการระบาดของกำเเพงกันคลื่นจนทำลายชายหาดต่างๆ ก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2563 นายวราวุธ ประกาศว่าการกัดเซาะชายฝั่งคือวาระเเห่งชาติ ผ่านมาจนตอนนี้กำเเพงกันคลื่นยังระบาด เพราะไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไร้การควบคุมตรวจสอบ ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งเเวดล้อมอย่างรอบด้าน

กำแพงกันคลื่น

นายอภิศักดิ์ ระบุอีกว่า ข้อมูลการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น พบว่า หลังถอดอีไอเอกำเเพงกันคลื่นระบาด 125 โครงการ มูลค่าการก่อสร้าง 8,487 ล้านบาท (กรมโยธาธิการฯ เเละกรมเจ้าท่า) สะท้อนให้เห็นว่านายวราวุธ เพิกเฉย ไม่สนใจ ที่จะนำเอากำเเพงกันคลื่นกลับมาทำอีไอเอ ทั้งๆที่มีอำนาจในการออกระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมเพื่อนำเอากำเเพงกันคลื่นกลับมาทำอีไอเอ

มิหนำซ้ำยังเตะถ่วงพยายามจะประกาศใช้ environment checklist ซึ่งท้ายที่สุดก็เเท้ง ก็คลอดประกาศไม่ได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้กำเเพงกันคลื่นสามารถดำเนินการได้โดยง่าย ไม่ต้องทำอีไอเอ ไร้กระบวนการติดตามตรวจสอบอย่างรอบด้าน ถือว่านายวราวุธ ไม่มีความจริงใจต่อการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เเละไม่เคยรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และขอเรียกร้องให้นายวราวุธ นำเอากำเเพงกันคลื่นทุกขนาด กลับมาทำอีไอเอโดยเร็ว

จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนาย และนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มาพูดคุยกับกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายภาคประชาชน

นายพิรุณ กล่าวว่า ทางสผ. ประชุมร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปโดยรวมว่า ให้กรมโยธาฯ ดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่น ผ่านกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ที่สามารถควบคุมจำนวนโครงการกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาฯ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนโครงการเดิมที่มีการร้องเรียน ให้กรมโยธาธิการฯ และกรมเจ้าท่าต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา และต้องมีชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและผู้ร้องเรียนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า ตนได้หารือกับกรมโยธาธิการฯ และกรมเจ้าท่า เพื่อเร่งแก้ไขกำแพงกันคลื่นที่มีการปลูกสร้างไปแล้ว ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบ โดยกรมทช. จะร่วมหารือว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งตนจะไม่ยอมให้อะไรเกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้อง โดยผ่านกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของ ทช. เพื่อให้เจ้าของโครงการปฏิบัติตามมาตรการฟื้นฟูชายหาด เช่น การเติมทราย เป็นต้น

ทั้งนี้ระหว่างการเจรจา นายอภิศักดิ์ ผู้ประสานงาน Beach for life ได้กล่าวยืนยันว่า จะปักหลักอยู่หน้ากระทรวง จนกว่าจะมีหลักประกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาภาครัฐปล่อยปละละเลยทำลายชายฝั่งทะเลจนเสียหาย ดังนั้นพวกเราจะไม่ปล่อยเวลาให้มันเนิ่นนานไปกว่านี้ ทางกระทรวงต้องมีการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ระหว่าง นายวราวุธ และกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เพราะพวกเราไม่เชื่อในคำพูดของภาครัฐอีกแล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องทบทวนให้โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดผ่านการทำอีไอเอ เพราะสิ่งก่อสร้างหากล้ำลงไปในทะเลถือว่ามีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น หากพวกท่านมีความจริงใจพวกเราต้องได้รับหลักประกัน พร้อมทั้งเงื่อนไขเวลาให้ชัดเจน หากไม่มีหลักประกัน พวกเราจะไม่กลับบ้านและยืนยันจะปักหลักอยู่หน้ากระทรวงต่อไป หรือหากมีหลักประกันแล้ว พวกท่านผิดสัญญา พวกเราก็จะกลับมาปักหลักที่หน้ากระทรวงได้เสมอ

ขณะที่นายกุศล รับปากว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งต่อรัฐมนตรี และปลัดทส. คาดว่าอีก 1-2 วัน จะนำร่างสัญญาเพื่อหาข้อตกลงด้วยกันอีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ