“วิปรบ.” ของแรง “ครม.” คุยพรรคร่วมฯ บอกลูกพรรคเข้าประชุมสภาฯ ด้าน “ชินวรณ์” ขู่ฟัน จริยธรรมการเมือง ส.ส.ทำสภาล่ม ยกอดีตนั่งหลับในห้องก็สอบตก
6 ธ.ค. 65 – ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาประชุมสภาล่ม ว่า
วิปรัฐบาลได้พูดคุยกันตลอดว่า ในช่วงสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ วิปรัฐบาลเตรียมรอรับฝ่ายค้านที่จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 และยังมีกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวการประชุมร่วมรัฐสภา ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ และยังมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การศึกษาแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายรอคอยอยู่
เราได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลแล้วว่า ในฐานะที่เราต้องรับผิดชอบเรื่องเสียงข้างมาก เราต้องมีองค์ประชมุพร้อมที่จะดำเนินการต่อไป และความคาดหวังของประชาชนอยากเห็นสภาชุดนี้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด จนถึงวันสุดท้ายก่อนยุบสภา ดังนั้นการทำหน้าที่ของทุกคน จึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีความรับผิดชอบร่วมกัน
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอวิปใหญ่ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่รับผิดชอบการเสนอกฎหมายเข้าสภาพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อช่วยวิปรัฐบาลควบคุมเสียง และต้องยอมรับว่าประธานสภาให้ข้อเสนอแนะว่า หากผู้ควบคุมเสียงไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะต้องใช้ข้อบังคับอย่างชัดเจน
ซึ่งตนเห็นด้วย หากมีความจำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้ไม่เข้าร่วมประชุมต่อเนื่องกันหลายครั้ง ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายตรวจสอบของภาคประชาชนหลายกลุ่มกำลังขอข้อมูลนี้อยู่ ตนจึงเรียนกับเพื่อนส.ส.ว่า ให้ระมัดระวัง หากขาดประชุมต่อเนื่องหลายครั้ง โดยไม่มีเหตุผล อาจจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมทางการเมืองได้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อเนื่องไปสู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบเรื่องนี้มาว่า เมื่อคุณมาเป็นส.ส. ได้ขาดการประชุมหลายครั้งจนทำให้เสียหาย
“ที่ผ่านมา เคยมีมาหลายสมัย และบางสมัยเพียงแต่นอนหลับในสภาก็สอบตกมาแล้ว ถ้าขาดการประชุมมากต้องรับผิดชอบร่วมกัน เรื่ององค์ประชุมเป็นเรื่องของทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
จึงขอเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านว่า หากฝ่ายค้านจะเล่นเกมทางการเมืองเรื่ององค์ประชุม เพื่อต้องการทำให้มีผลต่อรัฐบาล ผมคิดว่า ช่วงสุดท้ายนี้ไม่มีผลแล้ว เพราะรัฐบาลต้องเดินหน้าต่อ และการยุบสภาเป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะต้องตัดสินใจ
ดังนั้นฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบเรื่ององค์ประชุมด้วย หากฝ่ายค้านเล่นการเมืองมากเกินไป กระแสจะย้อนกลับไปที่ฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน เพราะถูกเรียกร้องความรับผิดชอบการประชุมสภา และแน่นอนที่สุดภาพจำของฝ่ายค้านชุดนี้ตอนที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นเสียงข้างมากทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจว่า การประชุมสภาในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ธันวาคม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น น่าจะเดินไปได้เนื่องจากช่วงเช้าเป็นการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขานชื่อ สมาชิกจึงต้องมาอย่างพร้อมเพรียง
เพราะถ้าไม่มาก็จะเปิดเผยชัดเจนว่าใครบ้าง ที่ไม่มาเพราะเหตุใด และตนได้รับการยืนยันจากวิปฝ่ายค้านว่า ถ้าผ่านมาตรา 9/1 ของร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อฯ มาตราอื่นๆ ฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ
จากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และจากนั้นเป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งขณะนี้แต่ละฝ่ายพร้อมแสดงเหตุผลและแสดงความเห็น
ด้าน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขาฯ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมวิปรัฐบาลในวันนี้ว่า เป็นการนัดประชุมปกติ โดยมีการเน้นย้ำถึงเรื่องกฎหมายที่มีความสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่เกิดปัญหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า องค์ประชุมไม่พอ ทำให้กฎหมายไม่สามารถเดินต่อได้
ตนในฐานะส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า อยากจะเรียกร้องส.ส.ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ของรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ซึ่งเวลาของสภาเหลือไม่เยอะ เราอยากจะชวนทุกท่านเข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติให้ดีที่สุด
ส่วนหลังจากนั้น ยังมีกฎหมายที่มีความสำคัญ ตนเชื่อว่ากฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่ยังต่ออยู่ คือร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง หรือร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ซึ่งรอเข้าสู่การพิจารณาในสภา เชื่อว่าการที่เร่งพิจารณาออกกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ได้ คือเรื่องที่ดีที่สุดในฐานะส.ส.ทุกคนจะทำให้กับประชาชนได้
ตนประเมินว่าหากร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะเข้าสู่การพิจารณาได้ อาจจะเข้าในสภาช่วงเย็น ของวันที่ 7 ธ.ค. และคงไม่สามารถพิจารณาจบได้ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง จะมีสมาชิกอภิปรายจำนวนมากหรือไม่
เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลจะต้องมีมาตราการกฎเหล็กในการควบคุมองค์ประชุมเข้มข้นขึ้น เพื่อรับกับปัญหาหรือไม่ นายอรรถกร กล่าวว่า ในวันนี้อยากให้มอง 2 มุม มากกว่า คือสมาชิกบางคนอยากทำพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่า สมัยหน้าจะได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้
เพราะประชาชนในพื้นที่ก็จับตามองอยู่ว่า ส.ส.ในพื้นที่ ที่ให้ความไว้วางใจมาทำหน้าที่ในสภาสมอย่างที่คาดหวังหรือไม่ จึงเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งส่วนตัวก็อยากให้เพื่อนสมาชิกทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะเวลาในสภาก็เหลืออีกไม่เยอะ