ความพ่ายแพ้ระยะ 100 ไมล์ ที่ทำให้ "Salomon" พัฒนารองเท้าสำหรับวิ่งเทรลระดับแชมเปี้ยน

Home » ความพ่ายแพ้ระยะ 100 ไมล์ ที่ทำให้ "Salomon" พัฒนารองเท้าสำหรับวิ่งเทรลระดับแชมเปี้ยน
ความพ่ายแพ้ระยะ 100 ไมล์ ที่ทำให้ "Salomon" พัฒนารองเท้าสำหรับวิ่งเทรลระดับแชมเปี้ยน

ความพ่ายแพ้ ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่นักกีฬาอยากพบเจอในชีวิต แต่บางครั้ง ความผิดหวังอาจนำมาสู่เรื่องดีๆ อย่างน่าเหลือเชื่อ

คิลเลียน ฮอร์เน็ต คือนักวิ่งเทรลแชมป์โลกหลายสมัย ที่ครั้งหนึ่งเคยแพ้หมดท่าบนเส้นทาง 100 ไมล์ ที่สหรัฐอเมริกา แทนที่จะนั่งร้องไห้เสียใจ เขาเดินทางสู่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อบอกกับใครสักคนว่า “ผมต้องการรองเท้าที่ดีกว่านี้”

นี่คือความท้าทายที่แบรนด์ Salomon ตอบรับ และผลิตรองเท้ารุ่นใหม่ที่พาฮอร์เน็ตกลับไปคว้าแชมป์รายการเดิมในปีถัดมา จนทำให้ “Salomon Sense” กลายเป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่โด่งดังทั่วโลกอย่างทุกวันนี้

รู้จักกับ Salomon

การวิ่งเทรล คือ การวิ่งสไตล์ผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา หรือ ทุ่งหญ้า การผลิตรองเท้าสักคู่ที่มีความทนทาน และเหมาะสมกับเส้นที่ยากลำบาก ย่อมต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้

1

Salomon คือแบรนด์ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางหิน ดิน โคลน ในประเทศฝรั่งเศส ตระกูลซาโลมอนเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขาเมื่อปี 1947 ในฐานะร้านขายอุปกรณ์เล่นสกีที่เมืองอานซี นครขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาแอลป์ เทือกเขาที่ใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป

ธุรกิจของ Salomon เติบโตด้วยดีตลอดศตวรรษที่ 20 พวกเขาจึงเริ่มขายสินค้าใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม หนึ่งในนั้นคือ รองเท้าปีนเขา ซึ่งถูกวางขายครั้งแรกในปี 1992 และประสบความสำเร็จมาก ทำให้ Salomon สนใจที่จะเจาะตลาดรองเท้ากีฬาอย่างจริงจัง

วิ่งเทรล จึงเป็นหนึ่งในกีฬาสายธรรมชาติที่ Salomon หมายตาเอาไว้ เมื่อธุรกิจของกิจกรรมดังกล่าวขยายตัว พวกเขาจึงทดลองผลิตรองเท้าวิ่งเทรลตัวแรกของบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 2006 โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “Speedcross”

2

“มันเป็นรองเท้าที่เฉพาะกลุ่มมากนะ ตอนนั้นเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าธุรกิจนี้จะไปต่ออย่างไร ในช่วงแรก เราคาดการณ์ว่าจะขายออกแค่พันคู่ด้วยซ้ำ” เฟลิกซ์ ดีเจย์ ผู้จัดการฝ่ายประเมินผลิตภัณฑ์ ย้อนเล่าจุดกำเนิดรองเท้าวิ่งเทรลรุ่นแรกของแบรนด์

นิตยสาร GQ กล่าวว่า รองเท้ารุ่น Speedcross คือส่วนผสมระหว่างรองเท้าแฟชั่นจ๋าอย่าง Nike Air Max และถุงเท้าดำน้ำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รองเท้ารุ่นนี้จะก้าวสู่เวทีแฟชั่นในทศวรรษถัดมา

อย่างไรก็ดี เหตุผลแท้จริงที่ทำให้ Speedcross กลายเป็นรองเท้าขวัญใจนักวิ่งเทรลในทศวรรษ 2000s คือคุณภาพของมันที่แตกต่างจากรองเท้าแบรนด์อื่นในตลาด

Speedcross ถูกออกแบบมาโดยเน้นเรื่องการยึดเกาะบนพื้นที่เปียกและพื้นผิวแบบโคลน กล่าวง่ายๆคือ เป็นรองเท้าที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของนักวิ่งเทรลทุกประการ

3

“Speedcross คือหนึ่งในรองเท้าที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำมากที่สุดในวงการวิ่งเทรลทั่วโลก” เอดูอาร์ โคยอน ผู้จัดการสายงานผลิตภัณฑ์ของ Salomon กล่าว

“เพราะฉะนั้น เราพยายามจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราตลอดเวลา เราระมัดระวังเป็นอย่างมากในการรักษาคุณภาพ รูปทรง และความสบายของรองเท้า เพื่อให้มันเป็นที่นิยมมากขึ้น”

คำขอร้องของแชมป์โลก

หนึ่งในนักกีฬาที่เชื่อมั่นในคุณภาพและเลือกใช้เจ้า Speedcross คือ คิลเลียน ฮอร์เน็ต นักวิ่งเทรลสัญชาติสเปน ที่เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงตั้งแต่ปี 2007 หลังคว้าแชมป์ Skyrunner World Series ในปีดังกล่าว

4

ฮอร์เน็ตก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพในปีถัดมา เมื่อเขาคว้ารางวัลชนะเลิศรายการ Ultra-Trail du Mont-Blanc การแข่งขันในฝันของนักวิ่งเทรลทั่วโลก ด้วยเส้นทางยาว 171 กิโลเมตรบนเทือกเขาแอลป์ โดยผู้ชนะต้องวิ่งผ่านสามประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส, อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ภายในเวลาราว 20 ชั่วโมง

การแข่งขันมองบลังค์เมื่อปี 2008 จบลงด้วยชัยชนะของฮอร์เน็ต หลังเขาทำเวลา 20 ชั่วโมง 56 นาทีในการแข่งขัน ชื่อเสียงของนักวิ่งจากแคว้นคาตาลันโด่งดังไปทั่ววงการ เช่นเดียวกับรองเท้าที่เขาใส่ลงแข่งขันในวันนั้น “Speedcross 2”

ฮอร์เน็ตหอบหิ้วรองเท้าคู่ใจลงแข่งขันอีกหลายรายการในปี 2008 ไม่ว่าจะเป็น Zegama, Giir de Mont และ Dolomiti Skyrace เขาชนะทุกรายการที่กล่าวมา โดยใช้รองเท้ารุ่น Speedcross 2 ลงแข่งขันทุกรายการ

5

อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งการแข่งขันที่ฮอร์เน็ตลงแข่งขันมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยเอาชนะได้สักที นั่นคือ Western States Endurance Run เวทีวิ่งเทรลระยะทาง 100 ไมล์ (161 กิโลเมตร) ผ่านเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เส้นทางที่ระยะสั้นกว่าไม่น่าสร้างปัญหาแก่แชมป์มองบลังค์ 2 สมัย (ฮอร์เน็ตคว้าแชมป์อีกครั้งในปี 2009) แต่สภาพเส้นทางที่แตกต่างกลับเป็นปัญหา เพราะการแข่งขันที่เทือกเขาแอลป์เต็มไปด้วยพื้นผิวที่ชื้นแฉะ ในทางกลับกัน สนาม Western States แข่งขันบนภูเขาที่แห้งแล้ง ไม่มีโคลนหรือหิมะแบบยุโรป

6

หลังล้มเหลวหลายครั้ง ฮอร์เน็ตรู้แล้วว่ารองเท้า Speedcross ไม่ตอบโจทย์กับการแข่งขันที่สหรัฐอเมริกา เขาต้องการรองเท้าคู่ใหม่ที่จะช่วยให้เขาลืมความพ่ายแพ้ และพิชิตชัยชนะบนเส้นทาง 100 ไมล์

ปี 2010 ฮอร์เน็ตเดินทางมาที่บริษัท Salomon พร้อมยื่นคำขาดกับแบรนด์ฝรั่งเศสว่า “ผมจะกลับไปแข่ง (สนาม Western States) อีกครั้งในปีหน้า แต่ผมจะกลับไปเพื่อคว้าชัยชนะเท่านั้น และคุณจำเป็นต้องประเมินรองเท้าของผมใหม่”

กำเนิด Salomon Sense

ข้อเรียกร้องของฮอร์เน็ตกลายเป็นงานใหญ่ของ Salomon เพราะโดยทั่วไปแล้ว บริษัทผู้ผลิตรองเท้าจะใช้เวลาราว 2 ปี เพื่อพัฒนาและทดสอบคุณภาพของรองเท้ารุ่นใหม่ แต่ตามเงื่อนไขของนักวิ่งเทรลชื่อดัง พวกเขามีเวลาผลิตรองเท้ารุ่นนี้ไม่ถึง 1 ปี

7

“ความท้าทายของเราชัดเจนมาก นั่นคือ การสร้างรองเท้าที่พร้อมใช้ลงแข่งขัน และช่วยให้เขากลับไปคว้าชัยชนะที่ Western States ในปีหน้า” แพทริค ลีค ผู้จัดการฝ่ายบริการนักกีฬา กล่าวถึงงานที่เขาต้องลงมือทำ

Salomon จับเข่าคุยกับฮอร์เน็ตหลายครั้งเพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาต้องการในรองเท้ารุ่นใหม่ ฮอร์เน็ตชี้ว่ารองเท้ารุ่นเก่ามีน้ำหนักมากเกินไป เขาไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าตามต้องการ จนทำให้ความเร็วในการวิ่งและความแม่นยำในการลงจังหวะเท้าลดลง

สิ่งหนึ่งที่รองเท้ารุ่นใหม่ต้องแตกต่างจาก Speedcross คือมันไม่จำเป็นต้องยึดเกาะพื้นดีเท่ารองเท้ารุ่นเก่า เพื่อโฟกัสไปที่น้ำหนักซึ่งต้องเบาลง ทีมออกแบบของ Salomon จึงลดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นบริเวณส้นออกให้หมด และให้ความสำคัญไปกับฝ่าเท้าด้านหน้า

เนื่องจากเวลาที่มีน้อย Salomon นำวัสดุทั้งหมดที่มีในสต็อกมาประกอบกันเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ในที่สุด “Sense” รองเท้ารุ่นใหม่ของพวกเขาถือกำเนิดขึ้น และพร้อมจะร่วมทางกับฮอร์เน็ตในการแข่งขัน Western States ปี 2011

15 ชั่วโมง 7 นาที 4 วินาที คือเวลาที่ฮอร์เน็ตทำได้บนเส้นทาง 100 ไมล์ มันอาจไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน แต่ก็เป็นเวลาที่ดีพอจะทำให้เขาคว้าชัยชนะการแข่งขัน Western States ปี 2011 ฮอร์เน็ตพิชิตเป้าหมายที่เขาต้องการ พร้อมกับรองเท้าคู่ใหม่ของตัวเอง

8

ทันทีที่ชัยชนะครั้งนี้ดังถึงหู Salomon พวกเขาลงมือพัฒนา Sense ต่อทันที และไม่นานนัก มันถูกวางขายในฐานะรองเท้าวิ่งเทรลที่ดีที่สุดในตลาด ภายใต้แนวคิด “One shoe, one athlete, one race.” หรือสรุปง่ายๆคือ รองเท้าที่ผลิตจากรูปแบบการวิ่งของแชมเปี้ยน

“Sense V7 คือรองเท้าที่ผลิตตามแนวคิดและความตั้งใจเดิมของฮอร์เน็ต แตกต่างแค่ช่วงเวลา ซึ่งทำให้วัสดุ เทคโนโลยี และวิธีการของเราก้าวหน้ากว่าเดิม นั่นทำให้เราผลักคอนเซปต์เดิมไปไกลยิ่งขึ้น” เบนฌาแมง เกร์เน็ต ผู้จัดการการออกแบบรองเท้าของ Salomon กล่าวถึง Sense V7 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2019

Salomon Sense คือรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อสนองความต้องการของฮอร์เน็ตโดยเฉพาะ ดังนั้น ไอเดียทั้งหมดที่ถูกบรรจุในรองเท้ารุ่นนี้ จึงตอบโจทย์ใครก็ตามที่มีความทะเยอทะยาน และอยากพัฒนาการวิ่งเทรลของตัวเองให้ดีกว่าเดิม

การถือกำเนิดของ Sense กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์จากฝรั่งเศสครองตลาดวิ่งเทรลทั่วโลก เพราะก่อนหน้านี้ Speedcross ถือเป็นรองเท้าคลาสสิกของกีฬาวิ่งเทรลจาก Salomon ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในยุโรป มากกว่าปีละหนึ่งล้านคู่

9

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายเหตุการณ์หรือหลากหลายนวัตกรรมบนโลกนี้ เกิดขึ้นจาก “ความอยากเอาชนะ” ของมนุษย์

เมื่อเราอยากบินเหมือนนก สองพี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบิน เมื่อเราอยากจะหนีจากความมืดมิดยามค่ำคืน เราจึงได้คิดค้นหลอดไฟ เมื่อเราอยากจะเชื่อมต่อทั้งโลกเข้าด้วยกัน มนุษย์ก็สามารถสร้างอินเตอร์เน็ตขึ้นมาได้

10

หากจะกล่าวเช่นนั้น รองเท้าวิ่งของ Salomon ก็สมควรจะถูกนับรวมไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จากความอยากชนะในสนามเเข่ง นำมาสู่การพัฒนาที่กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงของวงการวิ่งได้อย่างงดงาม

จิตวิญญาณของการเป็นผู้ชนะคือสิ่งสำคัญสำหรับ Salomon Sense รองเท้าคู่นี้ได้ขยายพรมแดนของการวิ่งเทรลออกไป และถูกวางขายในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์นักวิ่งเทรลทุกระดับที่อยากสัมผัสประสบการณ์แบบแชมเปี้ยน.. เหมือนดั่งต้นกำเนิดของรองเท้าคู่นี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ