บทบรรณาธิการ – สอนประวัติศาสตร์?

Home » บทบรรณาธิการ – สอนประวัติศาสตร์?


บทบรรณาธิการ – สอนประวัติศาสตร์?

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ

กระทรวงศึกษาธิการจึงออกประกาศเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

มีผลทำให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยแยกรายวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองออกจากวิชาสังคมศึกษา

ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนตระหนักรู้เรื่องความรักชาติ และมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ

กรณีดังกล่าว เป็นทิ่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงการศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนนักประวัติศาสตร์ว่าจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชานี้อย่างไร

อีกทั้งที่ผ่านมา หลายฝ่ายยังกังขาต่อความเข้าใจของนายกรัฐมนตรีต่อวิชาประวัติศาสตร์อย่างมาก เพราะยังจมและวนอยู่กับเรื่องเดิมที่พิสูจน์แล้วไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ ผู้ให้นโยบายเป็นนักการทหาร ที่ได้รับการปลูกฝังความเชื่อเรื่องวีรบุรุษจากการทำศึกสงคราม รัฐชาติ และประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย

การสร้างความตระหนักรู้เรื่องความรักชาติ ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่รัฐต้องการ จะเป็นประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง และเลือกเฉพาะบางด้านหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองมักจะไม่ได้รับการบรรจุในหลักสูตรเรียนรู้ เช่น การอภิวัฒน์ชาติ 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นอกจากนี้ การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ เช่น ขบวนการเสื้อเหลือง การปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนกหวีดจนเกิดการล้มล้างประชาธิปไตย

รวมถึงการรัฐประหารโดยกองทัพทั้งหมดที่ผ่านมา ก็ไม่นำมาเป็นบทเรียนให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ว่าสร้างความเสียหายกับระบอบประชาธิปไตยและประเทศชาติอย่างไรบ้าง

ดังนั้นการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นรายวิชา จะต้องไม่เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีความลุ่มลึก และรอบด้านในทุกมิติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ