เปิดใจ "ครูทอม" บิดลัดฟ้าฉีดวัคซีน Pfizer ที่สหรัฐฯ เผยค่าใช้จ่ายเกือบแสน (มีคลิป)

Home » เปิดใจ "ครูทอม" บิดลัดฟ้าฉีดวัคซีน Pfizer ที่สหรัฐฯ เผยค่าใช้จ่ายเกือบแสน (มีคลิป)
เปิดใจ "ครูทอม" บิดลัดฟ้าฉีดวัคซีน Pfizer ที่สหรัฐฯ เผยค่าใช้จ่ายเกือบแสน (มีคลิป)

การเดินทางด้วยวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในสหรัฐฯ กำลังได้รับความสนใจประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการหาหนทางต่างๆที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดยี่ห้ออื่น ที่ยังมาไม่ถึงประชาชนไทย ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศของไทยออกคำเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

วีโอเอไทย ได้มีโอกาสพูดคุยกับติวเตอร์สอนภาษาไทยชื่อดัง หรือ “ครูทอม” จักรกฤต โยมพยอม ที่นครนิวยอร์ก ถึงการตัดสินใจบินลัดฟ้ามายังประเทศผู้ผลิตอย่างอเมริกาเพื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการแจกจ่ายในประเทศไทย

จักรกฤต: “ตอนนี้นะครับ กำลังจะฉีดแล้วนะครับ อยู่ในห้องกับหมอเรียบร้อยแล้วนะครับ”

เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน: “Are you ready? (คุณพร้อมรึยัง?)”

จักรกฤต: “I’m so excited! (ครับ ตื่นเต้นมากเลย)”

เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน: “Here we go (อ่ะ เริ่มฉีดเลยนะครับ)”

บทสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นที่จุดจ่ายวัคซีนที่รัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐฯ เมื่อตอนช่วงสายของวันที่ 7 พฤษภาคม หรือประมาณ 12 ชั่วโมงหลัง จักรกฤต เดินทางถึงประเทศสหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯ ถือเป็นชาติผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสชั้นนำของโลกและชาวอเมริกันเกือบครึ่งประเทศก็ได้รับวัคซีนกันไปแล้ว ดังนั้น บางรัฐในอเมริกาจึงมีการผ่อนมาตรการและอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆสามารถรับวัคซีนได้ จักรกฤตจึงรีบคว้าโอกาสและเดินทางเข้าอเมริกาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

“ตัดสินใจปุบปับเหมือนกันครับ เพราะว่าซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนมานี่เลยครับประมาณ 4-5 วันเท่านั้นเองนะครับ แล้วก็พอซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วก็หาข้อมูลเพิ่มเติมครับว่า เราสามารถเช็คได้ที่ไหนบ้าง…คือว่าผมเองเนี่ยต้องการมาเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์อยู่แล้วด้วย แล้วก็อย่างนี้ก็คือ…เราเองก็มั่นใจในประสิทธิภาพและคุณภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในอเมริกันมากกว่าครับ ก็เลยตัดสินใจมาที่นี่และก็มาฉีดวัคซีน”

วัคซีนในประเทศไทย

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยมีสองยี่ห้อหลัก คือ ซิโนแวค จากประเทศจีน และ แอสตร้าเซนเนก้า จากสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า ภายในเวลาสิบวันแรก ยอดผู้ขอรับวัคซีนผ่านแอปพลิคเคชั่น “หมอพร้อม” มี 1.6 ล้านคนหรือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของกลุ่มอายุผู้อยู่ในเกณฑ์สามารถลงทะเบียนได้ ณ ขณะนี้

จักรกฤตพูดว่าตัวเขาเองไม่มั่นใจกับคุณภาพของวัคซีน “อย่างผมเองคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอ ซึ่งเขาก็บอกว่าฉีดวัคซีนเนี่ย อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ฉีดเพราะว่ามันก็ช่วยทุเลาอาการหลายอย่างได้จากการที่เราอาจจะติดเชื้อโควิค แต่ว่าอย่างที่เห็นนะครับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยนะครับคนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วแล้วมีอาการข้างเคียง…ก็มีคนอีกมากมายครับที่เรียกร้องให้ทางภาครัฐในการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นาครับ ให้เขาเข้ามาฉีด”

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย จักรกฤตเปิดเผยกับวีโอเอว่าใช้เงินเกือบหกหลักในการเดินทางมาที่สหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย “โดยรวมเนี่ยนะครับเพราะว่าน่าจะเกือบๆแสน…เวลากลับไทยไปเนี่ยต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับโรงแรมที่เราต้องกักตัวด้วยอันนี้เนี่ยก็ประมาณ 30,000 บาทนะครับ รวมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับก็ประมาณเกือบ 6 หมื่นบาทแหละ แล้วก็ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางในนี้อีกนะครับ ก็อาจจะประมาณ 20,000 บาทนะครับ หรือประมาณ 2 ถึง 3 หมื่นถ้าช้อปปิ้ง แล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ถึง 9 หมื่น โชคดีตรงที่ว่ามีบ้านเพื่อนอยู่แล้วด้วยทำให้ประหยัดค่าที่พักไปได้ครับ รวมๆก็ประมาณเกือบแสน”

ระเบียบการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน

สำหรับการจองคิวรับวัคซีน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานการจัดสรรวัคซีนของรัฐเวอร์จิเนีย ดีนา พอตเตอร์ ยืนยันกับวีโอเอว่า รัฐเวอร์จิเนียไม่แนะนำให้คนนอกรัฐและนักท่องเที่ยวเดินทางมายังรัฐเวอร์จิเนียเพื่อรับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ทางรัฐไม่มีมาตรการให้ศูนย์จ่ายวัคซีนตรวจสอบหลักฐานว่าผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนนั้นอาศัยอยู่ในเวอร์จิเนียจริง เพราะต้องการให้คนอเมริกันในทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น

ข้อควรคำนึงก่อนตัดสินใจเดินทางมาสหรัฐฯเพื่อรับวัคซีน

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ ได้เตือนคนไทยที่คิดจะเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนถึงกฏของแต่ละรัฐ และ ความเสี่ยงหากล้มป่วยในต่างแดน

“ก็เริ่มมีผู้บริหารและหน่วยงานของรัฐ ในบางรัฐที่ออกมาตรการเพื่อป้องกัน Vaccine Tourism ก็มีนะครับ เช่น ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา หน่วยงานด้านสาธารณสุขของมลรัฐแอละบามาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่มีถิ่นพำนักในมลรัฐเท่านั้น อันนี้ก็แสดงให้เห็นนะครับ ว่าในแต่ละมลรัฐสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการการฉีดแจกจ่ายวัคซีนตามที่เห็นเหมาะสมอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์”

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศยังชี้ถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะตามจากวัคซีนและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในอเมริกาที่มีราคาสูงกว่าประเทศไทยมาก

“วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกันกับทุกประเทศ ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง ซึ่งบริษัทผู้ฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ และ หากผู้เดินทางไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ก็อาจจำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจมีราคาสูงในสหรัฐฯ ”

และข้อมูลถึงการไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหากล้มป่วยจากวัคซีนก็ได้รับการยืนยันจากจักรกฤตที่ซื้อประกันสุขภาพในการเดินทางเป็นประจำ

จักรกฤตบอกกับวีโอเอว่า “เช็คกับประกันครับ ก็ได้ข้อมูลมาว่าประกันสุขภาพจะไม่ Cover อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน นั่นแปลว่าการที่เรามาฉีดวัคซีนที่ประเทศอเมริกาเนี่ย เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงเองว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วเนี่ยเราต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด อันนี้ก็ฝากทุกคนที่คิดจะมาที่นี่ด้วยนะครับ”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ