สงขลา “ทวี” รุดลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน เหตุสะบ้าย้อยเกิดอุทกภัย ประสบภัยน้ำท่วมหนัก เร่งอพยพยกหมู่บ้าน เศร้าผู้เฒ่าไป รพ.ไม่ทัน
17 พ.ย. 65 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเพียงปัญหาความไม่สงบเท่านั้นที่ยังแก้ไม่ตกเสียที แต่ขณะนี้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่กระหน่ำซ้ำเติมช่วงนี้
โดยเฉพาะ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พื้นที่หมู่ 1 บ้านแลแบง ต.สะบ้าย้อย จำนวน 49 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 200 คน ต้องเร่งอพยพไปอาศัยอยู่ที่ “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” ที่โรงเรียนสะบ้าย้อย
เนื่องจากเจอฝนตกหนัก น้ำป่าบ่าทะลักท่วมตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.65 ที่ผ่านมา โดยมวลน้ำได้ท่วมทั้งหมู่บ้าน ทั้งยังเอ่อล้นเข้าไปภายในบ้านชาวบ้าน จนไม่สามารถพักอาศัยอยู่ต่อไปได้
นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุเสียชีวิตอีก 1 ราย เนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอก และไม่สามารถส่งไปโรงพยาบาลได้ทันเวลา เพราะสถานการณ์อุทกภัยเป็นอุปปสรรค์ในการเดินทางครั้งนี้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เมื่อทราบข่าวความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวสะบ้าย้อย จึงรีบลงพื้นที่ไปเยี่ยม ให้กำลังใจทันที และให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ พร้อมเดินทางไป ศูนย์พักพิงชั่วคราว โรงเรียนสะบ้าย้อย และลงเรือสำรวจพื้นที่ รวมทั้งตรวจดูผลกระทบ พร้อมร่วมรับฟังข้อเสนอจากผู้นำในพื้นที่ และพี่น้องประชาชน
โดยเสียงจากในพื้นที่พากันเรียกร้องขอให้มีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เนื่องจากหมู่บ้านแถบนี้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เฉพาะปีนี้ท่วมมาแล้ว 2 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ ซึ่งระดับน้ำปัจจุบันยังคงท่วมสูงกว่า 2 เมตร มวลน้ำทะลักมาจากพื้นที่ จ.ยะลา และเขตแดนไทย-มาเลเซีย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับพี่น้องชาวสะบ้าย้อยว่า มาให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนสู้ “ผมคิดว่าพื้นที่อพยพ หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว คุณภาพน่าจะดีกว่านี้หน่อย ช่วยกันหน่อย จริงๆ น้ำท่วมทุกปี ลักษณะนี้เราต้องทำศูนย์อพยพที่เป็นกิจจะลักษณะ หาที่ทำศูนย์อพยพ เพราะเป็นภัยที่เกิดขึ้นประจำ
เท่าที่ฟังดูน้ำมาจากประเทศมาเลเซีย เขาพัฒนาพื้นที่ดี พอเกิดเหตุ น้ำก็มาพื้นที่ของเรา ครัวเรือนที่นี่ที่ประสบภัย บ้านที่มีบ้านเลขที่ประมาณเกือบ 100 หลัง ถ้ารวมบ้านไม่มีเลขที่ด้วยก็ร้อยกว่าหลัง ทุกหลังได้รับผลกระทบหมด บางหลังก็อาจมีคนอยู่ แต่ส่วนใหญ่เขาก็อพยพไปที่โรงเรียน
“ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้ามาดูแล เพราะว่าทรัพย์สินมันหายไปกับน้ำหมด สัตว์เลี้ยงก็ดี พืชผลทางการเกษตรก็ดี ถือเป็นความทุกข์ของประชาชน และขณะนี้ดูท่าทางน้ำยังไม่ลด และที่น่าเสียใจคือมีผู้สูงอายุต้องเสียชีวิต
ถ้าเป็นภาวะปกติ ไม่มีน้ำท่วม อาจไปโรงพยาบาลทัน แต่พอมีน้ำท่วม ไปไม่ทัน เลยต้องเสียชีวิตในหมู่บ้าน ความจริงรัฐต้องเต็มที่กว่านี้ ต้องขอบคุณท้องถิ่นที่พยายามช่วยกันอยู่ และเรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพยายามช่วย”
ภาคใต้มีหลายแห่งที่มีภัยธรรมชาติ หน่วยงานที่เข้ามาช่วยจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น แต่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ค่อยได้รับงบประมาณมา คือเราให้งบประมาณกับส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง แต่คนที่ช่วยชาวบ้านจริงๆ คือท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นน่าจะยกระดับ มีงบอุดหนุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ได้ท่วมแค่ปีเดียว