ประชากรโลก8พันล้านคนวันนี้ นักวิทย์ชี้บริโภคเกินจำเป็นเหตุโลกร้อน
ประชากรโลก8พันล้านคนวันนี้ – วันที่ 15 พ.ย. เอพีรายงานว่า ประชากรมนุษย์บนโลกมีจำนวนถึง 8 พันล้านคนแล้วในวันนี้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า แม้มนุษยชาติกำลังมีปัญหาประชากรมากเกินไป แต่ปัญหานี้ไม่ใช่ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น คาดไว้ว่า มนุษยชาติจะมีจำนวนทะลุ 8 พันล้านคนในวันนี้ ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรง ล่าสุด พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้นเพิ่มขึ้นถึง 0.9 องศาเซลเซียสแล้ว นับตั้งแต่ประชากรโลกทะลุ 4 พันล้านคนเมื่อปีพ.ศ. 2517 ซึ่งหากเกินกว่า 1.5 องศา จะไม่สามารถหวนกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีก
ปัญหาจำนวนประชากรและปัญหาโลกร้อนนั้นมีความเชื่อมโยงกันชัดเจนและเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ทว่า ความเชื่อมโยงนั้นไม่ได้มาจากการที่มนุษย์มีจำนวนมากเกินไป แต่มาจากภาวะบริโภคนิยมที่ทำให้มนุษย์บางกลุ่มอุปโภค-บริโภคเกินความจำเป็น
นางวาเนสซา เปเรซ-ซิเซรา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจโลก สถาบันทรัพยากรโลก กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ปัญหาหลักของมนุษยชาติปัจจุบันเป็นการอุปโภค-บริโภคเกินความจำเป็น โดยเด็กคนที่เพิ่งเกิดมาเป็นคนที่ 8 พันล้านวันนี้จะไม่มีทางมีโอกาสได้ใช้สอยและมีอยู่มีกินมากเท่ากับมนุษย์ปัจจุบันในอนาคต เพราะโลกมีทรัพยากรไม่เพียงพอ
รายงานระบุว่า ประเทศเคนยานั้นกำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง มีประชากรกว่า 55 ล้านคน คิดเป็นปริมาณมากกว่าประชากรในรัฐไวโอมิงของสหรัฐฯถึง 95 เท่า แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในสาเหตุโลกร้อน ที่ถูกปล่อยมาจากรัฐไวโอมิงกลับมากกว่าเคนยา 3.7 เท่า
ทวีปแอฟริกามีประชากรทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16.7 ของมนุษย์ทั้งโลก แต่กลับมีสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซก่อโลกร้อยเพียงร้อยละ 3 เทียบกับสหรัฐฯที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.5 ของทั้งโลก แต่ปล่อยก๊าซโลกร้อนรวมแล้วเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 (นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502)
ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุด้วยว่า คนแคนาดา ซาอุดีอาระเบีย หรือออสเตรเลีย 1 คน นั้นมีส่วนก่อให้เกิดก๊าซโลกร้อนมากกว่าคนจากปากีสถาน 1 คน ถึง 10 เท่า (กาตาร์ 1 คน มากกว่าคนปากีฯ 1 คน ถึง 20 เท่า) ซึ่งปากีสถานกำลังเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่กินพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีต้นเหตุหลักมาจากโลกร้อน
นายบิล แฮร์ จากกลุ่ม Climate Analytics กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าต้นตอของปัญหาไม่ได้มาจากจำนวนประชากรเป็นหลักแต่มาจากพฤติกรรมการบริโภค การแก้ไขปัญหาจึงควรมุ่งไปที่กลุ่มประชากรในชาติที่ปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนสูงเป็นหลัก
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับโมเดลจำลองของกลุ่ม Climate Interactive ที่พบว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์นั้นเป็นปัจจัยที่ผลน้อยกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ
การจำลองประชากรที่ต่างกันระหว่าง 8.8 พันล้านกับ 1 หมื่นล้านคน พบว่าโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาเพียง 0.2 องศา ขณะที่การละเลยไม่มีมาตรการภาษี หรือภาษีเพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 พันบาทต่อการปลดปล่อยก๊าซโลกร้อน 1 ตัน ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มถึง 0.7 องศา
นางแคเธอรีน เฮย์โฮ หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์สถาบัน The Nature Conservancy ในสหรัฐฯ กล่าวว่า การอ้างว่าโลกร้อนมีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรโลกที่มากเกินไปนั้น ตนมักได้ยินมาจากบุคคลที่ร่ำรวยเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลวไหลทั้งเพล
“ประชากรครึ่งโลกขณะนี้ปล่อยก๊าซโลกร้อนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 แต่พอหันกลับมาดูว่าชาติไหนบ้างที่กำลังต้องรับกับผลกรรมที่เกิดขึ้นกลับเป็นชาติที่มีประชากรไม่มากอย่าง มาลาวี โมซัมบีก เซเนกัล อัฟกานิสถาน เป็นต้น”
และว่า “แล้วพอเราลองมามองลึกลงไปในแต่ละชาติที่ปล่อยก๊าซโลกร้อนเยอะๆ ก็พบว่าคนรวยๆ ทั้งนั้นแหละค่ะ ที่ปล่อยก๊าซโลกร้อยมากกว่าคนอื่น สรุปแล้วก็คือประชากรโลกเนี่ยประมาณร้อยละ 80 มีส่วนในการก่อโลกร้อนน้อยมากค่ะ” เฮย์โฮ ระบุ
นางโคเลต์ โรส ผู้ประสานงานโครงการสถาบันพัฒนาประชากรเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้ประชากรส่วนใหญ่จะขยายตัวมากตามทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ แต่พื้นที่เหล่านี้มีส่วนทำให้โลกร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การขยายตัวของประชากรเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดใน 8 ประเทศ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา 5 ชาติ (อียิปต์ เอธิโอเปีย แทนซาเนีย ไนจีเรีย และคองโก) และทวีปเอเชีย 3 ชาติ ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย และฟิลิปปินส์
นางโรส ระบุว่า การขยายตัวของประชากรมนุษย์กำลังมีแนวโน้มลดลงและคาดว่าจะจึงจุดสูงสุดภายในศตวรรษนี้ ปัจจุบัน มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 แต่ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซก่อโลกร้อนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 1
ด้านกลุ่มนักรณรงค์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหาโลกร้อนที่มีความเกี่ยวโยงกับปริมาณประชากรนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลและนักการเมืองพยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ
นายเรมอน ครูซ ประธานกลุ่ม Sierra Club ที่รณรงค์ด้านการควบคุมประชากร กล่าวว่า การวิเคราะห์ตัวเลขเจาะลึกพบว่าปัญหามาจากการอุปโภค-บริโภคที่มากเกินไป และความต้องการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่กลุ่ม Center for Biological Diversity ซึ่งเคยรณรงค์คุมกำเนิดประชากรและหลีกเลี่ยงประเด็นการเหยียดเชื้อชาติเมื่อครั้งประชากรโลกทะลุ 7 พันล้านคนเมื่อ 11 ปีก่อนนั้นผลิตถุงยางอนามัยรุ่นพิเศษมีข้อความว่า “สวมแล้วดี ช่วยน้องหมีขั้วโลก” (Wrap with care, save the polar bear)