จะได้ดูไหม? กรรมการ กสทช. ชี้ 5 ประเด็นชวนคิด ซื้อลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ย้ำ กกท.เป็นหน่วยงาน มีหน้าที่ดูแลการได้รับสิทธิ์ถ่ายทอด
วันที่ 9 พ.ย.65 ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านวิทยุโทรทัศน์ โพสต์แสดงความคิดเห็นประเด็นการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ใจความโดยสรุป ระบุว่า
5 ประเด็นชวนคิด กรณีใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก
ใกล้วันที่ศึก “ฟุตบอลโลก 2022” จะเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน นำไปสู่กระแสในสังคมที่กลัวว่าคนไทยอาจจะไม่มีโอกาสได้ชมการดวลแข้งระดับโลกในปีนี้
ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังจากฝ่ายการเมืองให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 42.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.6 พันล้านบาท) เพื่อการนี้
นอกจากนี้ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งวางตัวเป็นโต้โผจัดการสิทธิการถ่ายทอดและขอรับการสนับสนุนจาก กสทช. ก็ระบุว่า กฎ “Must Have” ของ กสทช. ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการต่อรองราคาค่าลิขสิทธิ์
ก่อนที่ กสทช. จะพิจารณาและตัดสินใจในกรณีดังกล่าว มีประเด็นที่สังคมควรได้รับทราบและพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะมีต่อสาธารณะ
ประเด็นที่ 1. กสทช. มีภารกิจตามกฎหมายในการสนับสนุนการแสวงหาเนื้อหาหรือซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเพื่อนำมาออกอากาศหรือไม่
กสทช. มีกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวนสามฉบับที่ทางรักษาการเลขาธิการ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้หยิบยกมาเพื่อประกอบข้อเสนอของ กกท. ให้บอร์ด กสทช. พิจารณาในเรื่องการสนับสนุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ได้แก่
1) พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 36
2) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 27
3) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (ประกาศ Must Have)
จากข้อกฎหมายที่อ้างมา การให้เหตุผลว่า เพื่อให้คนพิการและคนด้อยโอกาสได้รับชมฟุตบอลโลกโดยเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่สามารถนำมาอ้างได้ เพราะในกรณีฟุตบอลโลกปีนี้ แม้แต่คนทั่วไปก็อาจจะไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก
นอกจากนี้ ประกาศ Must Have ไม่ได้หมายความว่า กสทช. ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายการที่ระบุให้เป็น Must Have ตามภาคผนวก ถ้าเอกชนที่มีการออกอากาศรายการตามภาคผนวก กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลให้เอกชนต้องเผยแพร่รายการนั้นผ่านการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป กสทช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดในการแสวงหารายการตามประกาศ Must Have มาเผยแพร่ กสทช. ไม่มีภารกิจตามกฎหมายในการสนับสนุนการแสวงหาซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหารายการฟุตบอลโลก
อนึ่ง การใช้เงินกองทุนเพื่อซื้อเนื้อหาจากบริษัทเอกชนมาเผยแพร่ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล เพราะฟุตบอลโลกเป็นรายการที่มีมูลค่าทางธุรกิจและควรจะเป็นการลงทุนตามกลไกตลาด หากจะต้องอุดหนุนรายการควรเป็นในกรณีที่ต้องการตอบสนองวัตถุประสงค์เฉพาะอันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการอุดหนุน เช่น รายการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รายการสำหรับชนกลุ่มน้อย เป็นต้น
ในอดีตที่ผ่านมา Media Development Authority (MDA) หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์จึงตัดสินใจที่จะไม่ใช้เงินทุน Public Service Broadcast เพื่ออุดหนุนรายการฟุตบอลโลก เพราะมองว่าไม่ได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี กสทช.ก็มีประกาศ Must Have ที่ทำให้มีประเด็นว่าเป็นการแทรกแซงตลาดและเอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหาเฉพาะบางประเภทที่ประเทศอื่นอาจจะไม่มี
ประเด็นที่ 2. กฎ Must Carry และ Must Have ของ กสทช. เป็นอุปสรรคต่อการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกหรือไม่ เพียงใด
กฎ Must Have กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคน รวมถึงคนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์บางรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง ให้รายการโทรทัศน์แบบถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 7 รายการ กล่าวคือ กีฬาซีเกมส์ กีฬาอาเซียนพาราเกมส์ กีฬาเอเซียนเกมส์ กีฬาเอเซียนพาราเกมส์ กีฬาโอลิมปิก กีฬาพาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ด้วยการออกอากาศผ่านทางการบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น
ส่วนกฎ Must Carry กำหนดว่า บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป คือ บริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ที่สามารถรับชมได้เป็นการทั่วไปแบบมีเนื้อหาเดียวกันในทุกช่องทางการรับชมและไม่กำหนดเงื่อนไขในการได้รับบริการ
ทั้งนี้ จะต้องไม่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นช่องทางการรับบริการทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และผู้ให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก โครงข่ายดาวเทียม เคเบิลทีวี ไอพีทีวี (IPTV) มีหน้าที่ต้องทำให้สมาชิกของตนได้รับชมบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการหรือเนื้อหารายการ
หากวิเคราะห์แล้ว กฎ Must Have และ กฎ Must Carry จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อสิทธิ์เอกชนที่มีความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินแต่เพียงผู้เดียวมากที่สุด เนื่องจากสิทธิในการจัดการผู้สนับสนุนในรายการและในช่วงเวลาการถ่ายทอดสดยังคงเป็นของเจ้าของสิทธิ และการที่กฎ Must Carry ให้ผู้ให้บริการแบบบอกรับเป็นสมาชิกนำพาสัญญาณไปแบบห้ามดัดแปลงจะส่งผลให้เกิดการรับชมที่กว้างขวางขึ้นซึ่งกลับเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสิทธิในการที่จะอ้างอิงสัดส่วนการรับชมที่มากขึ้น
ส่วนผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิก อาจจะมีแรงจูงใจลดลง เนื่องจากเมื่อได้สิทธิมาก็ไม่สามารถนำมาแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์จากการแพร่ภาพเฉพาะในช่องทีวีแบบบอกรับสมาชิกได้
ทั้งนี้ กฎ Must Have และ Must Carry อาจส่งผลต่อราคาค่าลิขสิทธิ์ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์จะคิดและต่อรองตามจำนวนช่องทางที่ซื้อสิทธิสำหรับเผยแพร่ เช่น โทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุกระจายเสียง อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ อุปกรณ์มือถือ การรับชม/รับฟังแบบเก็บค่าบริการ (Video/Radio on Demand) หรือการถ่ายทอดไฮไลต์จากการแข่งขัน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า กฎ Must Have และ กฎ Must Carry มีส่วนทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการตามที่ระบุ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือประกาศกฎ Must Have ยังมีข้อยกเว้นสำหรับการทำตามกฎ Must Have โดยเขียนว่าการดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน
ประเด็นที่ 3. การซื้อลิขสิทธิ์และถ่ายทอดสดรายการตามกฎ Must Have ที่ผ่านมาบริหารจัดการอย่างไร
การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกสองครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นภายหลังจาก กสทช. ออกประกาศ Must Have ซึ่งบังคับใช้ในต้นปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) โดยมีการกำหนดให้แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ทั้งระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล และระบบโครงข่ายไอพีทางสายและไร้สาย เพื่อให้สามารถรับชมได้ทั่วประเทศตามประกาศ Must Carry
การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 (พ.ศ. 2557) กสทช. มีมติเห็นชอบให้กำหนดกรอบวงเงินส่งเสริมการเข้าถึงบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปในรายการ “การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2014” ให้แก่ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (RS) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการเผยแพร่จาก FIFA ไม่เกินจำนวน 427.015 ล้านบาท (เนื่องจาก RS ทำสัญญากับ FIFA ก่อนการบังคับใช้ประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้มีการถ่ายทอดผ่านทุกช่องทาง) เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้ง 64 นัด ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบภาคพื้นดิน หรือ Free TV ได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง RS รวมถึงช่องทรูวิชั่นส์ ทั้งนี้ มีการแพร่ภาพในเคเบิล/ดาวเทียมทุกแห่ง เพื่อให้สามารถรับชมได้ทั่วไปตามประกาศ Must Carry
ในกรณีดังกล่าว บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ทำการฟ้อง กสทช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (Must Have) และมิให้นำประกาศดังกล่าวมาใช้กับการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เฉพาะกรณี RS ซึ่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า RS ที่เป็นผู้ได้สิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ไม่ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีครบทุก 64 แมตช์ ตามกติกามัสต์แฮฟ ที่ กสทช. กำหนด
โดยศาลชี้ว่า การได้สิทธิิถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของ RS ได้มาก่อนการประกาศ กฎ Must Have จึงไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กฎ Must Have ยังคงมีการบังคับใช้กับกรณีอื่นตามปกติต่อไป หลังจากนั้น กสทช. จึงได้พิจารณากำหนดมาตรการชดเชยหรือบรรเทาความเสียหายนี้ ตามแนวทางของศาลปกครองแนะนำ โดยการสนับสนุนใช้จ่ายจากกองทุน หรือสนับสนุนหรือส่งเสริมด้วยวิธีการอื่น
ส่วนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 (พ.ศ. 2561) บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนเจรจา และลงนามในสัญญา และเป็นผู้ได้รับสิทธิ์แบบออกอากาศได้ทุกแพลตฟอร์ม โดยใช้งบประมาณราว 1,400 ล้านบาท การถ่ายทอดในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับการลงทุนโดยองค์กรเอกชน 9 องค์กร
การถ่ายทอดสดครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง Free TV ได้แก่ ช่อง 5, True4U, Amarin TV และช่องดาวเทียม True4K (ความคมชัด 4K) โดยมีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้ มีการแพร่ภาพในเคเบิล/ดาวเทียมทุกแห่ง เพื่อให้สามารถรับชมได้ทั่วประเทศตามประกาศ Must Carry
ในกรณีกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เป็นกรณีที่ กกท. ของบประมาณเพื่อสนับสนุน “โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ 5 รายการ” ซึ่งถือเป็นทุนประเภทที่ 2 ตามข้อ 11 ของประกาศ กทปส. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน กทปส. พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ กสทช. สามารถทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้การสนับสนุนโครงการได้ กสทช. จึงสนับสนุน 240 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุน กทปส. และ กกท. สนับสนุนอีก 240 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
โดยเป็นการสมทบในการซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬา จำนวน 5 รายการ ซึ่งมีตัวแทนนักกีฬาจากประเทศไทยเข้าร่วมในการแข่งขันด้วย ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2022 ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
การสร้างความร่วมมือระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย และ กสทช. เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจาก กทปส. สำหรับการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เป็นการพิจารณาโครงการฯ ตามกระบวนการของ กทปส. และ กสทช. ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 4. หากใช้เงิน 1.6 พันล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกจะเกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร?
การใช้เงินกองทุน กทปส. เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก แม้จะเป็นการอุดหนุนการเข้าถึงเนื้อหาที่ระบุไว้ในกฎ Must Have แต่ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล จึงควรดูแลให้ผู้ประกอบการทำตามกฎที่มี มากกว่าจะเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งกำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในระยะยาวและมีความยั่งยืนทางสังคมสูงกว่า
นอกจากนี้ การใช้เงินจำนวน 1.6 พันล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ย่อมกระทบสภาพคล่องของกองทุน กทปส. และอาจส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศในการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ควรจะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ส่งผลต่อวงการการสื่อสารของประเทศอย่างกว้างขวาง
ประเด็นที่ 5. หากไม่มีเอกชนซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ใครควรเป็นผู้ดูแล และจะบริหารจัดการอย่างไร
พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จัดตั้ง “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้นในการกีฬาแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนํา และร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา
หากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนํา และร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา โดยมีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีรายได้อันเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการกีฬาของประเทศโดยตรง
ส่วน กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแลด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นภารกิจด้านการสื่อสารและการแพร่ภาพและเสียงไปสู่สาธารณะ
ดังนั้น กรณีการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้น ส่งเสริม ให้คนไทยมีความรักในกีฬา พัฒนาทักษะด้านการกีฬาฟุตบอลของคนไทย ผ่านการรับชมรายการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลการได้รับสิทธิ์การถ่ายทอด ซึ่งหากการกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิมาแล้วการบริหารจัดการเพื่อการถ่ายทอดสดในประเทศไทยก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงในประเทศไทยที่ กสทช. เป็นผู้กำกับดูแล
ทั้งนี้ ในส่วนบทบาทของ กสทช. ในการสนับสนุนนั้น มีข้อควรพิจารณาว่า หาก กสทช. จะให้การสนับสนุนเงินผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันเป็นผู้รับใบอนุญาตดำเนินการช่องรายการทีวีดิจิตอล T Sports หมายเลข 7 ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั้น
ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะของช่อง T Sports 7 ได้กำหนดว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องไม่ดำเนินการที่ส่งผลหรืออาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจ และต้องไม่เข้าแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา เว้นแต่ไม่มีผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจรายใดประสงค์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับสิทธิถ่ายทอดในรายการนั้น
ซึ่ง T Sports 7 ยังต้องยื่นข้อเสนอขอให้บริการถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าวต่อ กสทช. ด้วย ดังนั้น การสนับสนุนให้ กกท. ดำเนินการอาจส่งผลให้กลายเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการบริหารจัดการการถ่ายทอดได้ และอาจขัดกับเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตซึ่งถือเป็นกฎหมายเฉพาะที่ กสทช. เป็นผู้บังคับใช้เอง
นอกจากนี้ การชดเชยเงินให้ RS เมื่อปี พ.ศ. 2557 ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซี่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น หาก กสทช. จะมาจัดสรรเงินตามคำขอของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับช่อง T Sports หมายเลข 7 ในครั้งนี้ ก็จะเป็นการเข้าไปแทรกแซงตลาด ซึ่งขัดกับหลักการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่องค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย
อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่า หาก กสทช. ตัดสินใจสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้ การจัดการเรื่องการออกอากาศและการแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจจะทำอย่างไร และการโอนผลประโยชน์ทางธุรกิจจากสิทธิในการถ่ายทอดกลับมาทดแทนเงินสนับสนุนที่ได้จากกองทุน กทปส.จะทำได้หรือไม่ อย่างไร (อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยในสื่อมวลชนที่ระบุว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้จะสร้างรายได้ในภาคเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตามไม่ว่าเลือกทางออกแบบใด กสทช.จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางกฎหมาย ความเหมาะสมและคุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนกลไกตลาด การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งในการนี้ กสทช. จำเป็นที่จะต้องเร่งทบทวนผลดี ผลเสียของการบังคับใช้กฎ Must Have และ Must Carry ให้สอดคล้องกับบริบททางอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคมต่อไป