FootNote:พรรคลอยตัว เหนือการเมือง กับความล้มเหลวจาก “อดีต”
ไม่ว่าการเสนอตัวของพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ว่าการเสนอตัวของพรรคชาติพัฒนากล้า ไม่ว่าการเสนอตัวของพรรคไทยสร้างไทย มิได้เป็นเรื่องใหม่
1 คือการเสนอตัวเป็นพรรคอันมีจุดขายทางด้าน “เศรษฐกิจ” 1 คือการเสนอตัวอยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง
ก่อนการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมกราคม 2544 ก็มีหลายพรรคการเมืองเสนอตัวในลักษณะ “ลอยตัว” ในทางการเมือง ดำรงอยู่อย่างเป็น “กลาง” ในทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคความหวังใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคกิจสังคม แต่ที่สุด ก็ไม่อาจเอาชนะพรรคไทยรักไทยได้
การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ภาย หลังสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มี หลายพรรคการเมืองเสนอเป็นพรรคทางเลือกใหม่
ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะพรรคพลังประชาชนได้
คราวนี้ก็ยังมีหลายพรรคเพ้อฝันในข้อเสนออันเป็นทางเลือก
คำว่า “เป็นกลาง” คำว่าเป็นพรรคการเมืองอันเท่ากับเป็น “ทางเลือก” หรูหราราวกับเป็นอลังการงานสร้าง แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ไม่เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หากแต่ยังถูกมองไปในลักษณะอันเป็นการฉวยโอกาสในทางการเมืองด้วยซ้ำ
เนื่องจาก “ข้ออ้าง” ในทางการเมืองไม่อยู่กับความเป็นจริง
พรรคการเมืองเหล่านี้เรียกร้อง “ความสงบ” เรียกร้องและเน้นปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ “ปากท้องต้องมาก่อน” ต้องละและวางมือ จากความขัดแย้งในทาง “การเมือง”
ทั้งๆที่ในความเป็นจริง หากไม่สามารถแก้ปัญหาในทางการเมืองได้ ก็ไม่มีทางอย่างเด็ดขาด ที่จะสามารถสร้างผลงานและความสำเร็จในเรื่องทางเศรษฐกิจโดยราบรื่น
ความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือตัวอย่าง
จะอ่านความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจก็ต้องอ่านจากการขับให้ 2 มือเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่าจะเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้พ้นออกไป
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถาปนาตนเองแทนที่
เป็นการแทนที่ภายในอำนาจทางการเมืองแบบ “ทหาร” บนฐานแห่งความไม่รู้เรื่องในทาง “เศรฐกิจ” ในทาง “การเมือง”
ความล้มเหลวนี้จะสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในปี 2566 ชัดเจน