กระทรวงการคลังเล็งเพิ่มทุนให้ “การบินไทย” 50,000 ล้านบาท เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟู ขณะที่ “ศิริกัญญา” แนะ 3 ข้อเสนอ เจ็บแต่จบ ปลดภาระขาดทุนสะสม
หลังจากเกิดกระแสข่าวมาระยะหนึ่งว่า กระทรวงการคลังจะนำเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันนี้ (11 พ.ค.) เนื่องจากต้องการหาข้อยุติก่อนนัดประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เพื่อโหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พ.ค.นี้ คือ การพิจารณาเพิ่มทุนให้การบินไทย ซึ่งตามแผนระบุไว้ 50,000 ล้านบาท และการพิจารณานำการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันเงินกู้หรือเพิ่มทุนได้ โดยไม่ต้องมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติออกมาเพื่อให้สามารถโหวตผ่านแผนฟื้นฟูไปได้ หวังจะนำพาการบินไทยเดินหน้าฟื้นฟูกิจการต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจจากนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) จัดแถลงข่าวออนไลน์ถึงกรณีที่จะมีการพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยในการประชุม ครม. ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟู
โดย นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และเจ้าหนี้ คุยข้ามหัวประชาชนไทยไปมา แต่กลับไม่เคยสื่อสารโดยตรงกับประชาชน ทั้งที่การช่วยเหลือการบินไทยต้องใช้ภาษี หรือหากจะค้ำประกันหนี้ เจ้าหนี้ก็จะมาเก็บจากผู้ค้ำซึ่งก็พวกเราประชาชนคนไทยทุกคน ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี
“รัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการเข้าช่วยเหลือการบินไทย หวังผลตอบแทนอย่างไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็น ทางเลือกไหนดีกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบจากรัฐบาล” นางสาวศิริกัญญา ระบุ
3 ข้อเสนอ เจ็บแต่จบ ปลดภาระขาดทุนสะสมการบินไทย
ในส่วนของการหาทางออกนั้น นางสาวศิริกัญญามีข้อเสนอให้รัฐบาล 3 ข้อ เพื่อล้างขาดทุนสะสม ทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก และสามารถทำให้การบินไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
“ข้อเสนอแรก คือ การลดทุน เราจำเป็นต้องลดทุนเพื่อล้างการขาดทุนสะสม ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนสะสม 161,898 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ -128,742 ล้านบาท เสนอให้ลดทั้งทุนที่ชำระแล้วและส่วนของทุนอื่นๆ ซึ่งการลดทุนเดิมไม่ใช่อะไรนอกจากเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”
“ขั้นที่สอง เจ้าหนี้ต้องยอมเจ็บ ต้องมีการลดหนี้หรือแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นกู้ต้องร่วมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง คิดเป็นตัวเลขกลมๆ หนี้ที่สามารถลดได้อยู่ที่ประมาณ 300,00 ล้านบาท ถ้าขอ haircut หรือลดหนี้ได้ 40% จะสามารถทำกำไรลดขาดทุนสะสมได้ถึง 120,000 ล้านบาท แต่ข้อควรระวัง ทุกคนพูดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป เพราะผู้ถือหุ้นหรือผู้ฝากเงินสหกรณ์ล้วนแต่เป็นประชาชนรายย่อย”
“ขั้นสุดท้าย เมื่อลดหนี้จนผลของการขาดทุนสะสมเหลืออยู่น้อยแล้ว การเพิ่มทุนใหม่ อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล ถ้ารัฐบาลต้องแทรกแซง เสนอให้ต้องกำหนดแผนการขายหุ้นออกที่ชัดเจนใน 3-5 ปี เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard”
นอกจากนี้ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังเสนอให้พิจารณาการเปิดประมูลผู้ร่วมทุนใหม่ หรือหาสายการบินอื่นควบรวมได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ฺเนื่องจาก British Airways ของอังกฤษก็ควบรวมกับ Iberia ของสเปน, Air France ของฝรั่งเศสควบรวมกับ KLM ของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่การบินไทยในช่วงเริ่มต้นก็เป็นการร่วมทุนเช่นเดียวกัน
“ดังนั้น ดิฉันสรุปว่าแผนการนี้เป็นแผนที่เจ็บแต่จบ คือ การลดส่วนของทุน เจรจาลดหนี้ และถ้ามีการเพิ่มทุนโดยรัฐต้องมีแผนการออกใน 3-5 ปี เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก และสามารถรอดพ้นปัญหาถ้าเกิด shock ขึ้นมาในขณะนี้ และจะเป็นการแก้ปัญหาการบินไทยอย่างยั่งยืน” นางสาวศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย