รูปสลัก “หัวพญานาค” โผล่หลังต้นไม้ใหญ่ล้ม เก่านับพันปี-สร้างพร้อมปราสาทบายน
รูปสลัก “หัวพญานาค” – ซินหัว รายงานจากองค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา (เอเอ็นเอ) ซึ่งเปิดเผยว่าค้นพบหัวพญานาคทำจากหินทรายอายุหลายร้อยปี บริเวณใกล้กับ “ปราสาทเทพพระนาม” ภายในเมืองโบราณนครธม อุทยานโบราณคดีอังกอร์หรือหมู่ปราสาทนครวัดอันโด่งดังของกัมพูชา
นายโชค โสมาลา หัวหน้าทีมจดทะเบียนงานศิลปะจากสำนักอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและโบราณคดีเชิงป้องกัน กล่าวว่ารูปแกะสลักหัวพญานาคถูกฝังใต้ดินลึกครึ่งเมตร เมื่อต้นไม้ใหญ่ในบริเวณล้มลงจึงพบรูปแกะสลักที่รากของต้นไม้ เป็นหัวส่วนบนขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.2 เมตร และหนา 0.3 เมตร
นายโชคเสริมว่ารูปแกะสลักหัวพญานาคแบบบายนนี้อาจสร้างขึ้นพร้อมกับ ปราสาทบายน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13 ระหว่าง ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
องค์การอัปสรากัมพูชาระบุอีกว่าขณะนี้รูปแกะสลักหัวพญานาคที่ค้นพบข้างต้นถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระนโรดมสีหนุ-อังกอร์แล้ว
ทั้งนี้ อุทยานโบราณคดีอังกอร์มีขนาด 401 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 1992 และเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของกัมพูชา
ด้านอังกอร์ เอนเทอร์ไพรซ์ เปิดเผยว่าอุทยานรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ และทำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,680 ล้านบาท)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กัมพูชาปลื้มปริ่ม! นักสะสมในสหรัฐยินดีส่งคืน “โบราณวัตถุล็อตใหญ่” กลับบ้าน