11 จังหวัด-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ เจ้าพระยา-ป่าสัก สูงขึ้นอีกตั้งแต่ 4 ต.ค.

Home » 11 จังหวัด-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ เจ้าพระยา-ป่าสัก สูงขึ้นอีกตั้งแต่ 4 ต.ค.


11 จังหวัด-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ เจ้าพระยา-ป่าสัก สูงขึ้นอีกตั้งแต่ 4 ต.ค.

11 จังหวัด-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ เจ้าพระยา-ป่าสัก สูงขึ้นอีกตั้งแต่ 4 ต.ค. หลังจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำของ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

4 ต.ค. 2565 – กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ระหว่างวันที่ 3-9 ต.ค. ประมาณ 449.90 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 1.00 – 1.20 เมตร บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 – 0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25 – 0.50 เมตร

ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300 – 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก และมีน้ำจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จาก จ.ชัยนาท ถึง จ.สมุทรปราการ จึงต้องบริหารน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมือง อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมือง จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร และจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.

กอปภ.ก จึงได้แจ้ง 11 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ผู้บังคับเรือโดยสาร เรือโยงขนส่งสินค้า ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร พื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ