อินเดียขุดถ้ำ! ตื่นตาพบ “อาวุธหิน-ศิลปะสกัดหิน” คาดเก่าแก่สุด 48,000 ปี
อินเดียขุดถ้ำ! – บีบีซี รายงานวันที่ 16 ก.ย. ว่า หน่วยงานโบราณคดีรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของ ประเทศอินเดีย พบอาวุธหินที่คาดว่ามีอายุราว 10,000 ปี และอุปกรณ์ยังชีพซึ่งอาจเก่าแก่กว่า 20,000 ปี
หลังคณะนักวิจัยใช้เวลาขุดค้นถ้ำที่อยู่ในป่าลึก ห่างจากหมู่บ้านโกโลชี เขตสินธุทุรค ภูมิภาคโกนกัน ราว 10 กิโลเมตร โดยคณะนักวิจัยพบพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี 2564 และใช้เวลาร่วมปีในการขุดและสกัดหินภายในถ้ำแห่งนี้
ดร.เดช คารค์ หัวหน้าหน่วยงานโบราณคดีรัฐมหาราษฏระ เปิดเผยว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่จะพบศิลปะจากหินในลักษณะนี้ และเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะช่วยให้ความกระจ่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษได้
ขณะที่ นายรุติวิช อัปเต ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยศิลปะสกัดหินในภูมิภาคโกกัน และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ขุดค้นถ้ำ กล่าวว่าเครื่องมือหินขนาดเล็กมีอายุประมาณ 10,000 ปี ส่วนเครื่องมือขนาดใหญ่อาจมีอายุมากถึง 20,000 ปี
ดร.ปารัธ จาวฮาน นักโบราณคดี กล่าวว่ากระบวนการทางเคมีถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์สารตกค้างที่อาจปรากฏอยู่บนโบราณวัตถุ และจะช่วยกำหนดได้ว่าวัตถุชิ้นนั้นๆ ใช้ทำอะไรในอดีต ขั้นตอนการตรวจสอบจะใช้เวลาราว 2-3 เดือนในการค้นหาช่วงเวลาที่แน่นอนของเครื่องมือหินเหล่านี้ แต่เบื้องต้นประเมินว่ามีอายุระหว่าง 10,000-48,000 ปี
ทั้งนี้ ทีมสำรวจค้นพบหินแกะสลักรูปสัตว์ นก คน และลวดลายเรขาคณิตซ่อนอยู่ใต้ชั้นดินในหลายหมู่บ้านบริเวณที่ราบสูงโกกัน รวมแล้วพบศิลปะสกัดหิน 1,700 ชิ้นจากสถานที่ 132 แห่งใน 76 หมู่บ้านเขตสินธุทุรคและเขตรัตนคีรีซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- นักโบราณคดี พบโครงกระดูกหญิง อายุกว่า 400 ปี ถูกเคียวพาดคอ คาดเป็นแวมไพร์
- จากฟอสซิลหนัก 8 ตัน ทีมนักโบราณคดีพบ “ไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียส” 9 สายพันธุ์
- นักโบราณคดีเจอ “เตาเผาเครื่องสังคโลก” ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก-เก่ากว่า 1,900 ปี