ศรีสุวรรณ แนะ ชัชชาติ ไม่ควรอุทธรณ์สู้คดี รถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่ายื้อเวลา ผิดสัญญาโดยตรง สุดท้ายพลิกชนะคดีไม่ได้ ไม่คุ้มเสียดอกเบี้ยเปล่า ขู่ฟ้องคนสั่งการ ต้องรับผิดชอบ
8 ก.ย. 65 – นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันหรือแทนกัน
ชำระเงินสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างชำระ ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 1 เป็นจำนวนเงินต้น 2,199 ล้านบาท ดอกเบี้ย 149.5 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 เงินต้น 8,786 ล้านบาท ดอกเบี้ย 619.65 ล้านบาท รวม 11,754.65 ล้านบาท โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่ ผู้ว่าฯชัชชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กทม.เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองกลางสั่ง กทม. ร่วมจ่ายหนี้บีทีเอสกว่าหมื่นล้าน โดยให้เหตุผลว่า ส่วนต่อขยายที่ 1 ก็ยังค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะว่าเขาจะเอามูลหนี้เป็นส่วนของการแปลงสัญญาสัมปทาน ส่วนต่อขยายที่ 2 ยังมีภาระกับกรุงเทพธนาคม (KT) เป็นแค่หนังสือมอบหมายงาน ทำให้ยังมีข้อกังวลว่า กทม.มีอำนาจจ่ายจริงหรือเปล่า เพราะไม่ได้มีระบุตัวเลขหรือสัญญาที่ชัดเจนเหมือนส่วนต่อขยายที่ 1 โดยจะเอาประเด็นนี้ไปชี้แจงในการยื่นคำอุทธรณ์
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ซึ่งในที่สุดใครจะเป็นผู้จ่ายนั้น สุดท้ายความรับผิดชอบก็ต้องมาตกอยู่ที่ กทม.อยู่ดี และก็ต้องใช้เงินที่มาจากงบประมาณของ กทม.ทั้งสิ้น การยื่นอุทธรณ์ทำให้คดีดังกล่าวถูกยื้อระยะเวลาออกไปอย่างน้อย 1 ถึง 3 ปี มิใช่ว่าจะสามารถพลิกคดีให้ชนะก็หาได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาโดยตรง
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้ ผู้ว่าฯกทม. จะขอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในประเด็นปัญหาเพื่อความชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วไม่น่าจะคุ้มกับการที่จะต้องเสียดอกเบี้ยตลอดเวลา ทุกวินาที ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี จนกว่าคดีถึงที่สุด ตามที่ศาลระบุไว้คือ ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ขั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาทบวกร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งถ้ายื้อไป 1-3 ปี ดอกเบี้ยจะบวกเพิ่มอีกปีละ 769.15 ล้านบาท ลองคิดดูว่าคุ้มหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว หากไม่เชื่อคำแนะนำ สุดท้าย กทม.ก็ต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดให้แก่เอกชนในที่สุดแล้ว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากการที่ท่านผู้ว่าฯ กทม.สั่งให้อุทธรณ์คดีนั้น ต้องมีผู้รับผิดชอบ จะผลักเป็นภาระของ กทม.ทั้งหมดเลยนั้น หาชอบด้วยไม่
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อถึงวันนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะต้องทวงถามความรับผิดชอบถึงผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารกรุงเทพธนาคมทุกคนที่จะต้องร่วมรับผิดชอบในดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นนี้ด้วย เพราะถือว่าบอกกล่าวกันแล้ว ไม่เชื่อก็ติดตามดูกัน