ศาลรธน. ยันไม่ลัดขั้นตอนพิจารณาปม 8 ปี สั่งสอบเอกสาร ‘มีชัย’หลุด ย้ำเป็นกลาง

Home » ศาลรธน. ยันไม่ลัดขั้นตอนพิจารณาปม 8 ปี สั่งสอบเอกสาร ‘มีชัย’หลุด ย้ำเป็นกลาง


ศาลรธน. ยันไม่ลัดขั้นตอนพิจารณาปม 8 ปี สั่งสอบเอกสาร ‘มีชัย’หลุด ย้ำเป็นกลาง

ศาลรธน. แจงพิจารณาวาระ 8 ปีประยุทธ์ ไม่ลัดขั้นตอน หากหลักฐานครบถ้วนค่อยนัดวินิจฉัยอย่างน้อย 7 วัน สั่งสอบเอกสาร‘มีชัย’หลุด ยัน 9 ตุลาการเป็นกลาง อิสระ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงถึงกรณีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณากรณีประธานสภา ส่งคำร้องของส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่

นายเชาวนะ กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลรับคำร้องเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศาลได้พิจารณาตามกระบวนมาเป็นลำดับเป็นกระบวนการปกติ การที่ศาลนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ย. ไม่ได้เร่งเวลา หรือทำให้ช้าลง ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ศาลให้ความสำคัญ แต่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามปกติ ไม่ได้ลัดขั้นตอน

ส่วนที่มีข่าวว่าศาลจะประชุมพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) แล้วจะลงมติ โดยระบุมีเสียงข้างมากข้างน้อยเท่านั้นเท่านี้นั้น ขอเรียนว่า ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น พรุ่งนี้เป็นเพียงการนำพยานหลักฐานที่ศาลได้รับ มาพิจารณาว่าเพียงพอจะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าไม่พอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้น ที่มีข่าวว่าหลังจากพิจารณาในวันพรุ่งนี้แล้ว นัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน และผลการพิจารณาจะออกมาเป็นกี่เสียง ยืนยันว่ายังไม่มีเงื่อนไขกำหนดวัน และยังไม่ถึงขั้นลงมติ

นายเชาวนะ กล่าวถึงหนังสือชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) หลุดในโซเชียลว่า ตนไม่ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจมาก เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงถึงคู่ความ จึงให้สำนักงาน ติดตามว่าเอกสารมีที่มาที่ไปอย่างไร ที่ผ่านมาเมื่อมีเอกสารรั่วไหลในชั้นธุรการก็จะกำชับให้ระมัดระวัง ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากขึ้น ยืนยันว่าประธานไม่ได้นิ่งนอนใจ ห่วงใย และรู้สึกเสียใจ จึงให้สำนักงานระมัดระวัง และตรวจสอบ ส่วนจะเอาผิดใครได้หรือไม่จะต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน

ส่วนที่มีเอกสารชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ หลุดนั้น ทางสำนักงานยังไม่ทราบ แต่จะควบคุมอย่างเต็มที่ เมื่อมีเหตุก็ต้องเพิ่มมาตรการ เพราะประธานห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ส่วนตัวท่านไม่ได้หวั่นไหวต่อเสียงวิจารณ์ และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้เข้มแข็งมั่นคง

เมื่อถามว่าหากคณะตุลาการเห็นว่าข้อเท็จจริง เพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ตามข้อกฎหมายจะต้องนัดวินิจฉัยภายในกี่วัน นายเชาวนะ กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ในบางคดีบางเรื่อง เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะวินิจฉัยภายใน 15 วัน 30 วัน แต่คำร้องลักษณะกฎหมายไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา ซึ่งมีเพียงปัจจัยเดียวคือ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณา และให้ความยุติธรรม ก็จะกำหนดประเด็นวินิจฉัย และนัดอ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่าน และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ซึ่งปกติคำร้องที่มีกรณี ศาลจะลงมติช่วงเช้าและอ่านช่วงบ่าย

“การที่ศาลจะนัดอ่าน ถ้าไม่มีการไต่สวน ก็จะนัดวินิจฉัยหลังพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ถ้าอยู่ระหว่างการไต่สวน และเห็นว่าคดีมีข้อมูลเพียงต่อการวินิจฉัย จะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย แต่คดีนี้ยังไม่มีการไต่สวน ก็จะอยู่ในกรอบนัดวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังจากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัย”

นายเชาวนะ กล่าวอีกว่า ส่วนความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศาลก็รับฟัง แต่ไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์พิจารณา ศาลจะยึดสำนวนคดีเป็นหลัก ตุลาการทั้ง 9 คนเป็นอิสระ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะวินิจฉัยอย่างไร และขณะนี้ยังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ การที่บอกว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ