จับตาระเบียบวาระประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 6 และ 7 กันยายน ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 5 ฉบับ
เป็นร่างส.ส.พรรคภูมิใจไทย กับคณะ 1 ฉบับ เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120
น่าสนใจมากสุดคือ ร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 64,151 คน เนื่องจากเป็นร่างแก้ไขตัดอำนาจส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่า ปิดสวิตช์ส.ว.
พรรคเพื่อไทยเสนอ 3 ฉบับ โดยเฉพาะร่างแก้ไขมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดยส.ส.เท่านั้น
ตลอดจนตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับร่างที่เสนอโดยนายสมชัย และประชาชน
พรรคฝ่ายค้านเคยเสนอรัฐสภาพิจารณาตัดอำนาจส.ว. ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง ได้คะแนนแตกต่างกัน ส.ว.ที่โหวตเห็นด้วยสูงสุดคือ 56 คนจากทั้งหมด 250 คน
แต่หลายครั้งที่ผ่านมาเป็นการเสนอแก้ไขหลายประเด็นในร่างเดียว แต่รอบนี้เสนอแก้ไขประเด็นเดียว ต้องดูว่าฝ่ายผู้เสนอแก้ไขจะโน้มน้าวส.ว.ได้หรือไม่
เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นหลักการหัวใจสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.กำหนดไว้ เพื่อปูทางกลับคืนสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่อ้างเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี
การแก้ไขยากตรงที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบปิดสวิตช์ตัวเอง
ยกเว้น ส.ว.อาจคิดได้ว่าตนเองนั้นใกล้หมดวาระ อีกทั้งมีส.ว.จำนวนหนึ่งที่เห็นว่า ควรตัดอำนาจข้อนี้ออก จากเหตุปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง และบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป
ผู้เสนอร่างแก้ไขฉบับประชาชน ระบุ การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ครั้งนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ ส.ว.มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด
ทั้งยังจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกตั้งเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว.จะลงมติให้ใคร หรือควรจับมือกับพรรคการเมืองใดที่ ส.ว.มีแนวโน้มสนับสนุน
ที่สำคัญยังเป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล ลบล้างภาพการดำรงตนเป็นสภาตรายางให้ฝ่ายผู้มีอำนาจ กอบกู้เสริมสร้างเกียรติภูมิวุฒิสภา ให้เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากปัจจุบัน