เปิดเส้นทางชีวิต-การเมือง 'ประวิตร วงษ์สุวรรณ' ผบ.ทบ.เกาะโต๊ะ ผงาด นายกฯ รักษาการ

Home » เปิดเส้นทางชีวิต-การเมือง 'ประวิตร วงษ์สุวรรณ' ผบ.ทบ.เกาะโต๊ะ ผงาด นายกฯ รักษาการ


เปิดเส้นทางชีวิต-การเมือง 'ประวิตร วงษ์สุวรรณ' ผบ.ทบ.เกาะโต๊ะ ผงาด นายกฯ รักษาการ

เปิดเส้นทางชีวิต-การเมือง ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ผบ.ทบ.เกาะโต๊ะ ผงาด นายกฯ รักษาการ หลัง ‘ประยุทธ์’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องฝ่ายค้าน ปมดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมีมติ 5:4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย หรือมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะทำหน้าที่รักษาการนายกฯ เนื่องจากครม. เคยมีมติมอบหมายให้รองนายกฯ เรียงตามลำดับ เป็นผู้รักษาการนายกฯ หากนายกฯไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯอันดับ 1

ดาวเด่นรั้วเตรียมทหาร

สำหรับ พล.อ.ประวิตร (ป้อม) เป็นบุตร พล.ต.ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ และ นางสายสนี วงษ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2488 เป็นพี่คนโต จากพี่น้องรวมกันทั้งหมด 5 คน

เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ นักธุรกิจเจ้าสัวคอม-ลิงค์ (เจ้าของนาฬิกาหรู) เป็นที่มาของฉายา ‘เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชัน’ โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลในปี พ.ศ. 2505

ต่อมา พล.อ.ประวิตร ก้าวเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร (ตท.6) พร้อม พล.อ.สนธิ ซึ่งในเวลานั้น นตท.ประวิตร ถือเป็นนักเรียนที่โดดเด่นของรุ่น ได้รับความไว้วางใจเป็นหัวหน้าหมวดที่เพื่อนๆ และ รุ่นน้องเคารพรัก โดยเรียนจบใน ปี พ.ศ. 2508

ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17) ที่เรียกตัวเองว่า ‘รุ่นฝนแรก’ โดยสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2512

นายทหารดาวรุ่ง

สำหรับเส้นทางชีวิตรับราชการของ พล.อ.ประวิตร ที่ถือได้ว่าเป็นนายทหารดาวรุ่งของกองทัพบกในขณะนั้น เริ่มจากเป็น ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 ในปีพ.ศ. 2512

จากนั้นในปี พ.ศ. 2524 เติบโตในหน้าที่ จนขึ้นเป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2532 จะขึ้นเป็น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์

เส้นทางสายราชการดูราบรื่นเป็นอย่างมาก เมื่อต่อมา พ.ศ. 2540 ได้ขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อด้วย แม่ทัพน้อยที่ 1 ในปีต่อมา กระทั่งต้องมาสะดุดในช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ. เมื่อถูกย้ายไปดองในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก ในปี 2543

แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในยุคของ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ เป็น ผบ.ทบ. (ศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล) บิ๊กป้อม กลับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. เมื่อได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อด้วยตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ในปีถัดมา

ก่อนที่ในปี 2547 จะผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุคของ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมา ทักษิณ ออกมาแฉผ่านทางสังคมออนไลน์ว่า มีการเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ก้าวสู่เส้นทางการเมือง

หลังเกษียณในตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตร ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2551 เมื่อได้เป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กระทั่งในปี 2557 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ทำการรัฐประหาร พล.อ.ประวิตร ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นทั้งรองหัวหน้า คสช. , รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในรัฐบาล คสช.

ก่อนที่ในปี 2562 ในช่วงเลือกตั้งใหญ่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะ พี่ใหญ่ ‘3 ป.’ ถือเป็นแม่ทัพใหญ่ ที่คุมเกมการเมืองอยู่เบื้องหลัง และผลักดันให้ ‘บิ๊กตู่’ กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่รัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศ ในยุคของรัฐบาลผสม ปรากฎว่าเกิดปัญหาต่างๆขึ้นมากมาย แต่ด้วยบารมีของ ‘บิ๊กป้อม’ ที่มักใช้ บ้านป่ารอยต่อ เป็นพื้นที่เคลียร์ปัญหาทำให้รัฐบาลสามารถประคองสถานการณ์ และแก้ปัญหามาได้โดยตลอด

หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะ นายกฯรักษาการ จะนำพารัฐบาลไปในทิศทางไหน ในระหว่างรอคำตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ