ปฏิบัติการโหวต “เสียงประชาชน” ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมอันเป็นมิติใหม่ทางสังคม
ความใหม่มิได้อยู่ที่อาศัย “สมาร์ตโฟน” เป็นเครื่องมือในการแสดงและสะท้อนความเห็น หากแต่ “เครื่องมือ” นี้ดำเนินไปตามความเห็นของ “คน”
คล้ายกับ “โพล” แต่ก็ใกล้เคียงกับ “ประชามติ”
เป็นปฏิบัติการผ่านในห้วงอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ “ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ” และพัฒนาต่อยอดมาถึง “นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่”
ผลการสำรวจมีความหนักแน่น จริงจังและน่าเชื่อถือ
ถามว่าความน่าเชื่อถือของกระบวนการโหวต “เสียงประชาชน” วางอยู่บนรากฐานใด
คำตอบ 1 คือ การร่วมมือระหว่างบุคลากรแห่ง “มหาวิทยาลัย” อันเป็นสถาบันวิชาการกับ “สื่อ” อันเป็นสถาบันทางด้านข่าวสาร
ไม่เพียง 1 แห่ง หากเป็น 8 แห่ง
คำตอบ 1 คือ เครื่องมือทางด้าน “อิเล็กทรอนิกส์” มีความแม่นยำ เป็นวิทยาศาสตร์ และดำรงความเป็นวิชาการอย่างเข้มข้นจากคำถาม
ผลก็คือ มีประชาชนเข้าร่วมเกือบ 4 แสนคน
ผลจากโหวตก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา” และเป็นปฏิกิริยาในเชิงโต้กลับอย่างฉับพลันทันใด
แม้จะมีการตั้งคำถามอย่างรัดกุมผ่าน “นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่” แต่เป้าหมายอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เนื่องจากรากฐานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากกระบวนการรัฐประหาร การดำรงอยู่จึงโน้มเอนไปทางอำนาจนิยม
การตอบโต้ก็มาจากความเคยชินในเชิง “อำนาจ”
จากปฏิบัติการที่ผ่านมา 2 ครั้งสามารถคาดหมายต่อ “แนวโน้ม” ได้โดยพื้นฐาน
มีความเป็นไปได้ที่การสำรวจโดยผ่านช่องทาง “อิเล็กทรอนิกส์” เช่นนี้จะพัฒนาเติบใหญ่ จากที่จำกัดกรอบเพียงการสำรวจในแบบ “โพล”
จะนำไปสู่การทำ “ประชามติ” ได้