ช็อกธารน้ำแข็งสวิส นักวิทย์พบละลายไวขึ้น-หมดไปแล้วเกินครึ่ง
ช็อกธารน้ำแข็งสวิส – วันที่ 22 ส.ค. เอพีรายงานว่า ปริมาณหิมะและธารน้ำแข็งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังมีอัตราการละลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและละลายไปจนเหลือเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20
การค้นพบดังกล่าวเป็นผลงานการศึกษาร่วมกันของ อีทีเอช ซูริก มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคชั้นนำและสถาบันวิจัยป่าไม้ หิมะ และภูมิทัศน์แห่งสวิส ถือเป็นการจำลองธารน้ำแข็งและหิมะบนภูมิประเทศย้อนไปเมื่อปีค.ศ. 1931 เป็นครั้งแรก เพื่อนำมาเทียบกับภูมิประเทศปัจจุบัน
ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำแข็งนั้นลดลงเหลือครึ่งเดียวภายใน 85 ปี หรือในปี 2016 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาธารน้ำแข็งของสวิสยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องอีกถึงร้อยละ 12 ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี ท่ามกลางปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือโลกร้อน
นายเดเนียล ฟาริน็อตติ ผู้ร่วมวิจัย ระบุในวารสารงานวิจัย The Cryosphere ว่า การสังเกตการณ์ปรากฏการณ์และหาปริมาณของธารน้ำแข็งนั้นทำให้ทราบถึงความรุนแรงและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ในทวีปยุโรป โดยคณะผู้วิจัยใช้เวลาวิจัยนานหลายปี และต้องใช้เทคนิคการเปรียบเทียบภาพถ่ายจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง รวมถึงการตรวจวัดภาคสนาม จนสามารถจำลองธารน้ำแข็งของเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนได้
คณะผู้วิจัย กล่าวว่า ธารน้ำแข็งแต่ละแห่งนั้นมีอัตราการละลายไม่เท่ากันขึ้นกับปัจจัยอื่น เช่น ความสูง วัตถุต่างๆ บนพื้นธารน้ำแข็ง และความบางของธารน้ำแข็ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษายังพบด้วยว่า มี 2 ช่วง ที่ธารน้ำแข็งไม่ละลายแต่กลับเพิ่มขนาดขึ้น ได้แก่ ช่วงปี 1920 และ 1980 แต่ไม่มากพอที่จะต้านทานการละลายในระยะยาวได้