ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน-ผู้นำนักศึกษา ยื่นฟ้องให้เพิกถอนประกาศ ผบ.สส. อ้างอำนาจ พรก.ฉุกเฉิน แต่ “ลักไก่” เพิ่มเงื่อนไข-เพิ่มโทษผู้ชุมนุมโดยไม่มีอำนาจ
วันที่ 20 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 22 ส.ค.นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พสิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ
ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผบ.สส. เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก
สืบเนื่องจากวันที่ 27 ก.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม ร
วมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม…”
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.สส. หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา
การออกประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการออกคำสั่งเพิ่มทั้ง “ข้อห้าม” และ “หน้าที่” สำหรับผู้ชุมนุม เกินไปกว่าอำนาจที่ ผบ.สส. มีตามข้อกำหนดฉบับที่ 47 และยังเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สูงเท่ากับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผบ.สส. ไม่มีอำนาจออกประกาศเช่นนี้
ผู้ฟ้องคดีนัดหมายที่จะแถลงข่าว และยื่นฟ้องคดีในเวลา 10.00 จากนั้นจะยื่นขอให้ศาลแพ่งไต่สวนเป็นการฉุกเฉินในวันเดียวกัน เพื่อออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้ประกาศผบ.สส. ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ด้วย ซึ่งอาจมีการไต่สวนต่อ และออกคำสั่งในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน