“นักพฤษศาสตร์ไทย” ค้นพบอีกพืชชนิดใหม่ของโลก “กำลังช้างเผือก” เผยเป็นพืชสมุนไพรใช้บำรุงกำลังมายาวนาน หลังศึกษาชีวโมเลกุลระบุอยู่ในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) พบในลุ่มน้ำโขง กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเท่านั้น
17 ส.ค. 65 – นายสไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญ พรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายสุธีร์ ดวงใจ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายสมราน สุดดี นักพฤกษศาสตร์จากสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายวิทวัส เขียวบาง นักวิชาการป่าไม้จากสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร่วมกันค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) จากประเทศไทย พืชชนิดนี้มีชื่อไทยที่เป็นที่รู้จักกันมานานว่า กำลังช้างเผือก มีชื่อพฤกษศาสตร์ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ว่า Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai ได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Blumea เล่มที่ 67หน้าที่ : 113–122 ปี พ.ศ. 2565 https : //www.ingentaconnect.com/content/nhn/blumea/pre-prints/content-nbc-blumea-0637
นายสไว กล่าวต่อว่า สกุลเครือเขาหนัง (Phanera) เป็นสกุลที่มีบรรยายตั้งแต่ปื ค.ศ. 1790 โดยมิชชันนารีและนักพฤกษศาสตร์ชาวโปรตุเกส ชื่อ João de Loureiro (โจเอา เดอ เลอรีโร) โดยใช้ชนิดที่เก็บและพบในลาว เป็นตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายลักษณะพืช คือ P. coccinea Lour.
ต่อมาถูกย้ายไปสกุลชงโค (Bauhinia) เพราะใบมีรูปร่างคล้าย ๆ กัน ปัจจุบันได้นำความรู้ด้านชีวโมเลกุล (molecular phylogeny) มาช่วยยืนยันการจัดจำแนกพืชให้ถูกต้องตามวิวัฒนาการ ทำให้สกุลเครือเขาหนังแยกออกเป็นสกุลเดี่ยว ๆ ซึ่งพบมีกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น
อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่นี้เริ่มจากเมื่อเดือน ต.ค.2550 นายทวี แก้วพวง อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ได้เก็บตัวอย่างกำลังช้างเผือกซึ่งได้ปลูกไว้ในสวนสมุนไพร มาให้นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ทำการตรวจสอบชนิด แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ นำมาซึ่งการติดตามเก็บตัวอย่างดอกผลและการสำรวจในภาคสนาม
ซึ่งจากการสำรวจในภาคสนามอย่างละเอียดและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ไม่พบพืชชนิดนี้ในป่าธรรมชาติแถบนั้น อาจเนื่องมาจากพืชชนิดนี้ถูกตัดทิ้งจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น
จากการสอบถามได้ความว่า พืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรบำรุงกำลังที่ใช้กันมานาน เมล็ดที่ปลูกถูกนำจากพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ไม่ทราบแหล่งแน่ชัด และต่อมาได้มีการนำเมล็ดไปปลูกในที่ต่างๆ รวมทั้ง กทม.ด้วย พืชชนิดนี้อาจยังมีการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติในบางพื้นที่ ที่นักพฤกษศาสตร์ยังไม่สำรวจพบก็เป็นไปได้ ในพื้นที่ จ.บึงกาฬและพื้นที่ภูเขาควายและเขากระดิง ในเขต สปป. ลาว ที่อยู่ตรงข้ามเพราะมีสภาพป่าและระบบนิเวศที่คล้ายกัน
นายไสว กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างใบ ดอก ผล และเมล็ด อย่างละเอียด พร้อมกับการศึกษาทางชีวโมเลกุล พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์ ภายใต้ชื่อพฤกษศาสตร์ Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai คำระบุชนิด “mekongensis” หมายถึงลุ่มแม่น้ำโขง
แหล่งที่พบ ตัวอย่างต้นแบบหมายเลข Suddee, Puudjaa, Hemrat & Kiewbang 5390 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ ทั้งนี้การตรวจสอบและการยืนยันชนิดค่อนข้างยากลำบากสำหรับพืชที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด เพื่อความถูกต้องมากที่สุดว่าไม่เคยมีการค้นพบและตีพิมพ์ชนิดนี้มาก่อน ทีมผู้วิจัยได้ตรวจสอบอย่างละเอียด
พบว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงเล็กน้อยกับชนิดที่พบแถบยูนนาน ในประเทศจีน ได้แก่ ใบ รูปทรงของดอก รูปร่างกลีบดอก แต่เมื่อพิจารณาลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติม พบว่า ทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ ลักษณะปลายใบ รูปร่างดอกตูม สีดอก ขนาดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย รวมถึงการที่มีฝักเกลี้ยง การศึกษาทางด้านชีวโมเลกุลยังช่วยยืนยันความใกล้ชิดกับชนิดในสกุลเดียวกัน
นายสไว กล่าวต่ออีกว่า สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มือจับเรียงตรงข้าม มีขนหนาแน่น กิ่งอ่อนมีขนสีขาวหนาแน่น เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง 5.5-12 ซม. ยาว 6-14.5 ซม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปใบหอก ปลายรูปคล้ายสามเหลี่ยม โคนใบรูปหัวใจ ขอบมีขน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง
ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นจากโคนใบ 9-11 เส้น เส้นกลางใบตรงจุดที่ปลายใบแยกโผล่เลยขึ้นไปเล็กน้อย ก้านใบยาว 3-3.5ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น ยาวได้ถึงประมาณ 25 ซม. ดอกในช่อมี 20-35ดอก เรียงในช่อแบบหลวม ๆ แกนช่อดอกมีขนหนาแน่น
ใบประดับรูปไข่ถึงรูปใบหอก ใบประดับย่อยรูปแถบถึงรูปใบหอก ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย ดอกตูมรูปทรงขอบขนาน ยาว 7-8 มม. มีขนสั้นนุ่ม ฐานดอกรูปถ้วยยาวประมาณ 1 ซม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 7-8 มม. แฉกแยกจากปลายไม่เป็นระเบียบ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองอ่อนถึงชมพูอ่อน กลีบบนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น รูปไข่กลับหรือรูปช้อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายมนกลม ขอบเป็นคลื่น ทุกกลีบผิวด้านนอกมีขน
ด้านในเกลี้ยง มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 3 เกสร ที่เป็นหมันมีได้ถึง 2 เกสร รังไข่มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ผลรูปขอบขนาน แบน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 20-32 ซม. แข็ง เกลี้ยง เมล็ด 6-8เมล็ด รูปรีหรือเกือบกลม ยาวได้ถึง 2 ซม. สีดำ เกลี้ยง