‘สาธิต’ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมถกกฎหมายลูก รับ เสียเวลาแต่เคารพเสียงข้างมาก หวัง อนาคตฝ่ายนิติบัญญัติมีเอกภาพ ไม่เสี่ยงทำผิดกฎหมาย
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ส.ค 2565 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวกรณีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว องค์ประชุมไม่ครบจนทำให้สภาล่ม ว่า ในฐานะประธานกมธ.ต้องขอบคุณ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ดำเนินการประชุมจนถึงที่สุด และขอบคุณกมธ.ทุกคนที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ก็เป็นที่ยุติ และจบสักทีสำหรับกฎหมาย ซึ่งการยุติในครั้งนี้มีผลทำให้ร่างกฎหมายฉบับเดิมของรัฐบาล หรือร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ คือ ยืนหลักบัตรสองใบหารด้วย 100 โดยหลักการในร่างฉบับเดิมเป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งถูกต้องตามหลักการ
นายสาธิต กล่าวต่อว่า การดำเนินการขั้นต่อไป นายชวนได้แจ้งในที่ประชุมแล้วว่า ร่างพ.ร.ป.จะถูกส่งกลับไปที่กกต. ภายใน 10 วัน หรือหากมีเหตุจะใช้เวลาอีก 3 วัน หลังจากนั้นก็จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาได้แจ้งว่าจะส่งให้กกต.ภายในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตาม ตนมีความเสียดายในประเด็นการแก้ไขในชั้นกมธ.ที่มีความก้าวหน้าและทันสมัย
“ผมจึงฝากกกต.ไปว่า สิ่งไหนที่สามารถปฏิบัติได้ เช่น การรายงานข้อมูลเข้าระบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และการให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพื่อบันทึกภาพคะแนน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้ถูกส่งไปยังกฎหมายร่างเดิม แต่เป็นข้อกฎหมายที่แก้โดยกมธ. ซึ่งอาจจะเกินข้อกฎหมายไป แต่ขอให้ทำเพื่อความโปร่งใสและความทันสมัย” นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามว่า การกระทำเช่นนี้ถือว่าเสียเวลาและงบประมาณหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากไม่ให้การทำงานของกมธ.ที่ทำหน้าที่มา 180 วัน มีความทันสมัยกว่าร่างเดิม แต่ก็ถือว่าต้องเคารพ เพราะทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภา ซึ่งเป็นการคำนึงเสียงส่วนใหญ่ แต่หากจะมองประเด็นดังกล่าว ต้องมองที่ต้นเหตุคือการแก้ไขในมาตรา 23 ในช่วงที่มีการพิจารณาปรับเสียงข้างมากของกมธ. มาเป็นเสียงข้างน้อย โดยใช้มติของที่ประชุมสภา
“อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เดินหน้าผ่านมาแล้ว ผมไม่อยากพูดถึงในอดีต เพราะหวังว่าในอนาคต ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายรัฐสภาจะมีเอกภาพในการทำกฎหมาย ไม่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป และให้เรามีศักดิ์ศรี” นายสาธิต กล่าว