บทบรรณาธิการ – วิกฤต 24 สิงหา

Home » บทบรรณาธิการ – วิกฤต 24 สิงหา


บทบรรณาธิการ – วิกฤต 24 สิงหา

นับถอยหลัง 7 วัน สู่เส้นตาย 24 สิงหาคม 2565 วันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ นายกรัฐมนตรีจะดำรงดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ โดยมีมาตรา 264 รับรองความต่อเนื่องนี้ไว้ คือ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

การพ้นตำแหน่งก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ยังมีบันทึกความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน ในการประชุม กรธ. วันที่ 7 กันยายน 2561 ยืนยันหนักแน่น ว่า

พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป

บันทึกประชุม กรธ. 7 กันยายน 2561 เป็นช่วงพิจารณาและจัดทำความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ความมุ่งหมายของมาตรา 158 ในความวรรคสี่

สาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การกำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลาคือ 8 ปี แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม

แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลแล้วเกิน 8 ปี ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ การที่หลายประเทศอารยประชาธิปไตยกำหนดห้วงเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศไว้ที่ 8 ปี หรือ 2 สมัยนั้น ก็เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้

กลุ่มการเมืองทั้งในและนอกสภา ออกแถลงการณ์ ประกาศนัดชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อน 24 สิงหาคมนี้

พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อส.ส.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ พ่วงบันทึกความเห็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหลักฐานประกอบการวินิจฉัย พร้อมกับขอศาลมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินในทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเป็นทางเลือกอะลุ้มอล่วยที่สุดคือ ยุบสภา เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีก 3-4 เดือน ก่อนจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

ด้วยวิธีนี้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายน งานสุดท้ายก่อนปิดฉากชีวิตการเมืองไปตลอด

กล่าวถึงที่สุด เหตุผลสำคัญของฝ่ายที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์อย่าได้ฝืนอยู่ต่อไป นอกจากเพื่อความเคารพกฎกติกาโดยไม่ต้องเสียเวลาตีความแล้ว ยังเพื่อยุติเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งร้อนแรงในบ้านเมือง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ