บทบรรณาธิการ – บริหารจัดการน้ำ

Home » บทบรรณาธิการ – บริหารจัดการน้ำ


บทบรรณาธิการ – บริหารจัดการน้ำ

ในช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้มีฝนตกหนักในภาคเหนือและภาคกลาง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพายุดีเปรสชันมู่หลาน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของไทย และประเทศลาวตอนบน

ส่งผลกระทบเมื่อช่วงวันที่ 11-13 สิงหาคม เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคเหนือเป็นบริเวณกว้าง หลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดตอนบนมีน้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และน้ำท่วมฉับพลัน

สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลทำได้เพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการช่วยเหลือตามอัตภาพเท่านั้น

ขณะนี้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในภาคเหนือ มีปริมาณใกล้เต็มความจุ และต้องพร่องน้ำออก เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพายุดีเปรสชันลูกใหม่ที่คาดว่าจะตามมาอีกเร็วๆ นี้

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราประมาณ 1,100-1,400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ส่วนที่แม่น้ำสะแกกรัง อัตราประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที และลำน้ำสาขา อัตราประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที

ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400-1,600 ลบ.ม./วินาที ซึ่งต้องระบายออกสู่พื้นที่ใต้เขื่อน อันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งต้องรีบแจ้งให้ทราบในทุกช่องทาง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 รัฐบาลขณะนั้นจึงมีโครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับผลกระทบและเสียหายน้อยที่สุด

เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงการดังกล่าว ซึ่งมีทั้งแผนงานอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ได้ดำเนินการสานต่อ หรือริเริ่มในรัฐบาลหลังจากนั้น

ช่วงระยะเวลา 8 ปีต่อเนื่องกัน ประชาชนแทบไม่เคยรับรู้สัมผัสได้เลยว่ารัฐมีแผนงานบริหารจัดการน้ำอย่างไร แม้จะมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยหลักก็ตาม

ที่ผ่านมาและในอนาคต ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับอุทกภัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคได้มากน้อยขนาดไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ